เนื่องด้วยหน้าที่การงาน แอดมินเลยมานั่งศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในโลก Health Care ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เอะใจอะไรเกี่ยวกับวงการนี้ แต่พออ่านไปสักพักแล้วรู้สึกว่าเป็นวงการที่น่าสนใจมาก เลยหยิบมาเขียนเล่าให้ฟังกันครับ
Fitbit คืออะไร เกี่ยวกับ Big Data อย่างไร
สำหรับคนที่รักสุขภาพ รักการออกกำลังกาย น่าจะเคยได้ยินถึงสายรัดข้อมูลที่จะวัดทุกการกระทำของเราในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเดิน การนอน และเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ก็ยังสามารถวัดการเต้นของหัวใจได้อีกด้วย ซึ่งปกติสายพวกนี้ก็บอกเวลาด้วย ทำให้เราสามารถใส่แทนนาฬิกาได้เลย
สายรัดเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ของ Fitbit ครับ มียี่ห้ออื่น ๆ อีกมากมาย เช่น Apple Watch, Garmin, Mi Band ฯลฯ และในปัจจุบันก็มีการนำนาฬิกาคลาสสิกกับฟีเจอร์ Smartwatch มารวมร่างกัน เช่น Fossil หรือ Withings ของโนเกีย
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของสายรัดข้อมือเหล่านี้ คือ สายรัดข้อมูลเหล่านี้เก็บข้อมูลของผู้สวมใส่อยู่ตลอดเวลา และข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปเก็บบน Cloud ซึ่งสายรัดเหล่านี้ผู้ใช้เป็นล้านคน เกิดเป็นข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data นั่นเองครับ แถมเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพล้วน ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
มาลองดูกันว่าข้อมูลพวกนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้างครับ
การใช้ประโยชน์จาก Big Data ด้าน Healthcare: สำหรับผู้คนทั่วไป
มาพูดถึงประโยชน์ของข้อมูลสุขภาพแบบ Real-time สำหรับบุคคลทั่วไปก่อนครับ คุณ Mike Jensen เค้าเล่าในบลอคของธุรกิจของเค้าเอง ว่าได้ซื้อ Fitbit ให้ลูกชายเป็นของขวัญคริสมาสต์ และเค้าก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงกับลูกชาย
ตัว Fitbit เก็บข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิต เช่น ช่วงไหนที่ลูกชายไม่แอคทีฟ อาจจะดูทีวี หรือเล่นเกมอยู่ ซึ่งทำให้ตัวลูกชายสามารถจัดการเวลาตัวเองได้ดีขึ้น อยากออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้ร่างกายของลูกชายแข็งแรง และขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการแข่งวิ่งในทีมบาสเก็ตบอล รวมถึงแข่งวิ่งความอดทนในกลุ่มลูกเสืออีกด้วย แม้แต่ตอนที่เป็นวันหยุด ลูกชายเค้ายังออกไปกวาดสวนคุณป้าเองอีกด้วย
คุณ Mike บอกว่า “มันน่าอัศจรรย์มากที่ได้รู้ว่าเด็กคนนึงทำอะไรได้ขนาดไหน ตอนไม่มี TV และไวไฟ”
การใช้ประโยชน์จาก Big Data ด้าน Healthcare: สำหรับคุณหมอ
ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์กับผู้สวมใส่เท่านั้น Dr. Eric Topol มีการทดลองนำอุปกรณ์ IoT (Internet of Things หมายถึง เครื่องมือที่ส่งข้อมูลจากผู้ใช้ไปเก็บไว้ผ่านระบบออนไลน์) เหล่านี้ไปให้คนไข้ที่มีปัญหาโรคหัวใจสวมใส่ โดยเครื่องนี้จะทำการวัดค่าต่าง ๆ จากร่างกายคนไข้ตลอดเวลา ทำให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติที่บ้านได้ตามปกติ ถ้าเมื่อไหร่คุณหมอเจอว่าค่าที่ส่งมามีความผิดปกติ คุณหมอค่อยเรียกคนไข้มาหา
จะเห็นว่าได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายคนไข้และฝ่ายคุณหมอเลยครับ เพราะคนไข้สามารถใช้ชีวิตได้อิสระ ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลต่อเวลา ส่วนฝ่ายคุณหมอก็สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือช่วยหาความผิดปกติแบบอัตโนมัติได้ ไม่ต้องนั่ง Monitor ข้อมูลตลอดเวลา
ปัญหาของ Big Data ด้าน Healthcare
พูดถึงข้อดีไปแล้ว เราก็มาพูดถึงปัญหากันบ้างครับ เนื่องจากว่าคนต้องการความง่ายในการใช้งาน ความง่ายในการส่งข้อมูล และความง่ายในการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก็ต้องแลกมากับปัญหาเรื่อง “ความปลอดภัยของข้อมูล” (Security & Privacy)
ปัจจุบันมีธุรกิจใหญ่หลายแห่งที่เคยได้รับผลกระทบจากการโดนแฮคข้อมูล เช่น eBay เคยโดนแฮคข้อมูลผู้ใช้งานส่วนหนึ่งไปในปี 2014 แล้วลองคิดดูว่าถ้าข้อมูลที่โดนแฮคเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ สามารถนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้หลากหลายมากครับ
เพราะฉะนั้นในการเลือกสายรัดข้อมือเหล่านี้มาใช้งาน นอกจากประโยชน์ที่เราจะได้รับแล้ว อย่าลืมมองในทางกลับกันเรื่องของความน่าเชื่อถือของแบรนด์ด้วยครับ เพราะไม่แน่ว่าข้อมูลที่เราสร้างมาทุกวินาที อาจจะไปตกอยู่ในมือคนที่ไม่หวังดีก็ได้ครับ
อย่างไรก็ตาม แอดมองว่าอันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในการใช้ Big Data ได้อย่างมีประโยชน์มาก และหากเจอตัวอย่างอะไรน่าสนใจแบบนี้จะนำมาเล่าให้ฟังกันอีกครับ :)