สัมภาษณ์คุณท็อป: Data Analyst สาย E-Commerce แห่ง Zilingo

ecommerce data analyst job

งานด้าน Data Analysis ถือเป็นงานที่สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลแก่องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่แข่งขันกันสูง อย่างธุรกิจด้านการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) แบรนด์ไหนที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าก็จะได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

วันนี้แอดมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณท็อป Data Analyst ในธุรกิจ E-Commerce จากต่างประเทศอย่าง Zilingo ครับ บทความนี้น่าจะมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่สนใจอยากเริ่มงานในสาย Data จะได้เข้าใจการทำงาน และได้รับแรงบันดาลใจไปไม่มากก็น้อยครับ

บทความนี้อยู่ในซีรีย์ สัมภาษณ์อาชีพสาย Data Science ซึ่งแอดเริ่มต้นขึ้นมาเพราะอยากให้เราเข้าใจงานในสายอาชีพนี้กันมากขึ้น และอยากให้คนที่สนใจเข้ามาทำงานด้านนี้ได้รู้ด้วยว่างานนี้เหมาะกับตัวเองมั้ย และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ถ้าใครทำงานในสาย Data อยู่ก็ขอเชิญชวนมาคุยกันครับ ทักมาในเพจได้เลย

เรามารู้จักกับคุณท็อปกันเลยดีกว่าครับ และมารู้จักกันว่า Data Analyst ที่ Zilingo เค้าทำอะไรกันบ้าง

บทสัมภาษณ์คุณท็อป Data Analyst ที่ Zilingo

zilingo data visualization
คุณท็อป Data Analyst จาก Zilingo

แอดเพิร์ธ: สวัสดีครับคุณท็อป รบกวนแนะนำตัวสักหน่อยว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ และตำแหน่งนี้ต้องทำอะไรบ้างครับ

คุณท็อป: ตอนนี้เป็น Fintech Data Analyst ที่ Zilingo ประเทศไทย อยู่ในแผนก Business-to-Business (B2B) & B2C Ecosystem (Seller’s Service) ครับ

หน้าที่ที่ผมต้องทำ คือ การรวบรวมข้อมูลจากทีมต่างๆออกมาเป็น summary report และส่งสรุปและบทวิเคราะห์ขึ้นไปให้ยังทีม รวมถึงสร้างการเข้าถึงมูลที่จำเป็น หรือใช้บ่อย เพื่อนำไปต่อยอดในแง่ Strategy Business ของทีมต่อไปครับ

แอดเพิร์ธ: ตัวงานน่าสนใจมากเลยครับ บอกเราหน่อยได้มั้ยครับว่า มีการใช้เครื่องมืออะไรบ้างครับในการทำงานนี้

คุณท็อป: ผมสร้าง Dashboard จาก Business Intelligence Tool และ Spreadsheet Tool อย่าง Looker หรือ Google Sheet ต่อด้วย Google Data Studio เป็นหลัก

ผมวาง Position ตัวเองเป็นคนนำข้อมูลไปใช้ หรือ Summary ให้ออกไปในรูปแบบ Report ตามรายวัน รายเดือน รายปีต่าง ๆ ต่อจากคนที่อัพเดทข้อมูลในทุก ๆ วันแบบ Real-time

นอกจากนั้นพอได้ Dashboard แล้ว ผมก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสื่อสารกับทีมอื่น ๆ หาโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น เช่น ดูว่า Service ไหนที่เทรนด์ลดลงมั้ย และเราสามารถทำอย่างไรได้บ้างให้ดีขึ้นครับ

แอดเพิร์ธ: เรียนจบเกี่ยวกับ Data มาโดยตรงเลยหรือเปล่าครับ ถึงใช้เครื่องมือต่าง ๆ ด้าน Data ได้คล่องขนาดนี้

คุณท็อป: ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีศาสตร์ ครับ ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวหิน แหล่งแร่ น้ำมัน ความเป็นมาของโลก ดูไกลกันกับปัจจุบันมากเลยใช่ไหมครับ (หัวเราะ)

หลังจากจบการศึกษาผมเคยอยู่ในทีม Research ขุดกระดูกไดโนเสาร์อยู่พักหนึ่ง ที่กรมทรัพยากรธรณี แล้วรู้สึกว่างานวิชาการนี้น่าสนใจครับ แต่ผมกลับสนใจการลำดับ Species หรือแบ่ง class ของไดโนเสาร์ซะมากกว่าว่าจะทำยังไงให้จัดได้เป็นระเบียบมากขึ้น 

หลังจากนั้นได้มีโอกาสได้ทำงานทางด้านจัดการข้อมูล ทำรายงาน และบทวิเคราะห์ จากหลายๆปัจจัยที่มากระทบ Performance ของธุรกิจ E-Commerce ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการของ Call Center ชื่อ Transcosmos ประเทศไทย

ตอนนั้นค่อนข้างเหนื่อยมากเลยครับ เพราะเรามาจากพื้นฐานที่เป็น “ศูนย์” เลย มาเรียนรู้ใหม่ทุกอย่าง เริ่มต้นจาก Excel ขั้นพื้นฐานเลยจริง ๆ ครับ นอนที่บริษัทไปหลายคืน (หัวเราะ) แต่ผมก็พยายามปรับตัวและเรียนรู้เรื่อยมา

ด้วยความที่จบสายวิทยาศาสตร์มา สิ่งที่ผมนำมาใช้คือตรรกะทางด้านการสมมุติฐาน การทดลอง ที่เป็นลำดับขั้นตอน จึงคิดว่าเป็นพื้นฐานที่ดีอย่างนึงสำหรับการทำงานในด้านนี้

จนกระทั่งได้รับโอกาสอีกครั้งที่ Zilingo เป็น Data Analyst ครับ ซึ่งงานนี้ด้วยความที่เราทำ Product ของตัวเอง เลยมีโจทย์มากว้าง ๆ ได้โอกาสทำอะไรอิสระ มีการตั้ง OKR ด้วย

แอดเพิร์ธ: แปลว่าไม่ได้เรียนจบตรงมาเลยสินะครับ พอเล่าได้มั้ยครับว่าทำยังไงถึงย้ายสายมาทำงานในสาย Data ได้ครับ และมีคำแนะนำอะไรบ้างให้คนที่อยากย้ายสายงาน

zilingo data science
Zilingo เป็น E-Commerce ด้านแฟชั่นที่กำลังมาแรงอยู่ตอนนี้ครับ

คุณท็อป: สำหรับผมแล้ว ผมไปคุยกับเพื่อนมาก่อนว่าชอบอะไรครับ เพื่อนเลย Refer งานนี้มาให้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่รู้เกี่ยวกับคำว่า Data มาก่อน

สำหรับคนที่อยากมาทำงานสายนี้ แนะนำว่าควรจะฝึกสกิลการคิดวิเคราะห์เป็นขั้นเป็นตอน อาจจะเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลใน Excel ก็ได้

แอดเพิร์ธ: ผมลองไปรีเสิร์จมาเจอว่าบริษัท Zilingo ที่คุณท็อปทำอยู่เป็นบริษัทด้าน E-Commerce ใช่มั้ยครับ รบกวนเล่าเกี่ยวกับบริษัทที่ทำอยู่ให้เราฟังหน่อยได้มั้ยครับ

คุณท็อป: ณ บริษัทที่ผมอยู่ตอนนี้คือบริษัท start-up ที่ชื่อว่า Zilion-Tech (Thailand) ซึ่งแบ่งเป็น 2 platform หลักครับ ก็คือ

1. Zilingo – เป็น e-ccomerce fashion online แบบ Business-to-Customer (B2C) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น marketplace (ร้านค้าทั่วไป)

ซึ่ง Platform นี้มีไอเดียจากตลาดนัดสวนจตุจักรและแพลตทินัมมอลล์ในไทยที่ขายของออฟไลน์ แต่ทางเจ้าของ Zilingo ต้องการนำขึ้นมาระบบออนไลน์ และได้จดทะเบียนเป็น Headquarter ที่สิงคโปร์

ปัจจุบันมีได้รับการลงทุนใน series-D แล้ว ซึ่งเกือบเป็นธุรกิจ Unicorn ที่ก่อกำเนิดในอาเซียนนี้แล้วครับ อีกทั้งยังเปิดให้บริการในหลากหลายประเทศเลยครับ อาทิเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา

(แอดเพิร์ธ: ธุรกิจ Unicorn คือ Startup ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐครับ ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 300 บริษัท)

2. ZilingoAsiaMall – เป็น e-comerce fashion online แบบ Business-to-Business (B2B) หรือพูดง่ายๆคือ platform online สำหรับการค้าส่งนั่นเอง ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี platform ไหนโดดเด่นขึ้นมา ทำให้เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีเลยล่ะครับ

ผมในฐานะ Data Analyst ของทีมดังกล่าวนี้ก็มีส่วนช่วยสำคัญ ทั้งในวิเคราะห์ข้อมูล วัดการเติบโต เพื่อ support ให้ทีมเราประสบความสำเร็จมากขึ้นครับ

#กล้าที่แต่งกล้าที่ต่าง #แต่งให้ต่าง ขายของ Zilingo หน่อย ถถถถถ

แอดเพิร์ธ: แปลว่าเราต้องทำงานกับชาวต่างชาติด้วยใช่มั้ยครับนี่ เก่งมาก ๆ

คุณท็อป: ใช่เลยครับ ที่ออฟฟิสมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในการคุยงานครับ

แอดเพิร์ธ: พอจะแชร์ได้มั้ยครับว่า งานในหนึ่งวันของตำแหน่ง Data Analyst ที่ Zilingo ต้องทำอะไรบ้างครับผม

คุณท็อป: งานจะไม่ค่อยซ้ำกันในแต่ละวันสักเท่าไหร่ครับ โดยปกติแล้วในวันทำงานของผม นอกจากจะ cleansing / preparing / maintaning Data ที่คนในสายนี้ส่วนใหญ่ต้องทำเป็นประจำ ผมจะคอยวิเคราะห์และอัพเดทความเคลื่อนไหวในแต่ละวันให้เพื่อนๆในทีมทราบ คอยสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เห็นจาก dashboard หรือ summary report

หรือถ้าทีมมี requirement อะไร ก็จะรีบอัพเดท หรือดึงข้อมูลไปให้เพื่อนในทีมใช้ เผื่อมีปรับแผนธุรกิจก็จะทำให้เราปรับตัวได้อย่างทันท่วงที

พร้อมทั้งพยายามสร้างมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถเห็นได้จากข้อมูลอย่าง เช่น ในบางสถานการณ์ ตัวเลขกว้าง ๆ อย่าง จำนวนดีล อาจจะไม่พอ เราอาจต้องหาตัวเลข unique หรือ duplicate ในฝั่ง seller / buyer / customer / creditor ย่อยลงไปอีก

การรายงานข้อมูลของผม จะทำเป็นการประชุมรายสัปดาห์ เพื่ออัพเดทสถานการณ์ให้ทีมทราบและข้อสงสัยต่าง ๆ ที่พบ เพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายในแต่ละเดือน ซึ่งผมจะต้องประสานงานกับทีมงานในหลากหลายส่วนมาก เพราะทุกคนคือแหล่งข้อมูลของผมนั่นเองครับ

นอกจากนั้น ก็จะมีการสร้าง Dashboard เพื่อสื่อสารกับคนในทีม และสอบถาม Feedback จากคนในทีมตลอดว่าเข้าใจมั้ย ทำยังไงได้บ้างให้เข้าใจง่ายขึ้น และสามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

แอดเพิร์ธ: มีสมาชิกในเพจสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับวิธีการสร้าง Dashboard ครับ อยากให้เล่า Process ในการทำ Dashboard หนึ่งอันให้หน่อยได้มั้ยครับว่าต้องทำอะไรบ้าง มีกระบวนการอย่างไร ตั้งแต่เก็บ Requirement จนถึงการนำ Dashboard ไปใช้ในงานในองค์กร

คุณท็อป: ได้เลยครับ อย่างแรกเลย ผมจะสร้าง Template ของข้อมูลส่วนที่เราต้องการนำเสนอขึ้นมาก่อน เช่น Template ของ Marketing Service ก็ลิสต์ออกมาว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็จะดึงข้อมูลมาใส่แต่ละช่องให้หมด

พอ Template เสร็จแล้ว ก็เอามาสร้าง Dashboard ด้วยการสร้าง Data Source ใน Data Studio แล้วเริ่ม Filter ว่าเราอยากแสดงข้อมูลอะไร

เวลาสร้าง Dashboard ผมก็จะเลือกกราฟที่แสดงผลออกมาให้อ่านได้ง่าย เลยจะเห็นได้ว่าผมใช้พวก Bar Chart เยอะ เพราะอ่านง่าย และเปรียบเทียบได้ง่าย ตามหลัก Data Visualization ครับ

พอ Dashboard เสร็จแล้ว ก็จะนำไปคุยกับทีมว่าสามารถเข้าใจได้ง่ายมั้ย หรือเจอข้อมูลผิดปกติก็เอาไปคุยกับทีมเลยว่ามันเป็นเพราะอะไร พอได้ Feedback กลับมาก็ส่ง Dashboard พร้อมสรุปบทวิเคราะห์ให้หัวหน้าอีกที

top data analyst zilingo
งานของคุณท็อปถือว่าเป็นงานที่สำคัญต่อ Zilingo มากเลยครับ

แอดเพิร์ธ: อีกคำถามจากทางสมาชิกเพจนะครับ คุณท็อปพอจะช่วยยกตัวอย่าง Dashboard ที่เคยทำแล้วสร้าง Business Value ให้บริษัทได้มั้ยครับ

คุณท็อป: ส่วนตัวผมคิดว่า Dashboard ไม่ได้สร้าง Business Value ทันทีครับ

แต่สิ่งที่สร้าง Business Value คือ พอเรานำ Dashboard ไปให้ทีมที่เกี่ยวข้องดู แล้วคุยกับเค้าว่ามีข้อมูลไหนที่ผิดปกติอยู่ เช่น กำไรของร้านไหนตกภายในเดือนนี้ ผมก็จะแนะนำไอเดียต่าง ๆ ที่ผมเห็นจาก Data มาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ซึ่งไอเดียเหล่านี้จะไปสร้าง Decision ในธุรกิจอีกทีหนึ่ง

สิ่งสำคัญของตำแหน่งของผมในธุรกิจยร่ ก็คือ เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจทำงานยังไง เพื่อให้แนะนำเค้าได้ถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาในการคลุกคลีกับตำแหน่งอื่น ๆ ในทีมจนกว่าเราจะเข้าใจตรงนี้ได้

ผมพยายามที่จะทำให้ตัวเองสร้าง Value ให้ทีมได้มากที่สุด โดยการไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอครับ

แอดเพิร์ธ: เป็นมุมมองที่ดีมากเลยครับ และจากงานหลายรูปแบบที่ทำมาทั้งหมดในตำแหน่งนี้ คุณท็อปชอบอะไรมากที่สุดครับ

คุณท็อป: โดยส่วนตัวแล้วผมชอบความ creative ของที่นี่มากสุดครับ ดูเผินๆอาจจะ contrast กับงานด้าน data ไปสักหน่อย แต่ที่จริงแล้วเราสามารถทำอะไรก็ได้ มีอิสระในการคิดงาน เสนออะไรก็ได้ที่คิดว่าดีกับธุรกิจ ทำแล้วปัง ทำแล้วโดนใจ ทำแล้วได้อะไร ทำแล้วทุกคนมีส่วนร่วมกับผลงานของมัน แม้แต่ในแง่ของผมก็ตาม

ที่ Zilingo เราเน้นให้งานออกมา Speed (รวดเร็ว) & Simple (เรียบง่าย) & On Point (ตรงประเด็น) เพราะฉะนั้นผมเลยเน้นการนำเครื่องมือที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ เพื่อสื่อสารงานออกมาได้ตรงประเด็น

นอกจากนั้น ผมก็ได้เข้ามาปรับรูปแบบการ collect ข้อมูล ทั้งเพิ่มความละเอียด เพื่อให้ได้ detail ที่ต้องการ หรือ สร้าง dashboard ให้ได้มุมมองใหม่ แล้วทีมสามารถนำไปต่อยอดได้ แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วครับ

แอดเพิร์ธ: แล้วสิ่งที่ไม่ชอบล่ะครับ

คุณท็อป: ผมว่าความยากที่สุดของงานนี้ คือ การวิเคราะห์ของเราจะช่วยทีมได้มากน้อยแค่ไหนนั้นมันวัดคุณค่าเป็นตัวเลขไม่ได้เลย มันมีหลากหลาย factor มาก ๆ

เช่น เวลาเราเสนอ Insight ไป ทางทีม Business ก็นำไปใช้โดยไม่ได้ Track ความแตกต่างของแต่ละ Scenario ที่ทางทีม Business ทำ ทำให้การวิเคราะห์ของเราอาจจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่

แอดเพิร์ธ: สุดท้ายนี้ คุณท็อปมีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่อยากมาทำงานอาชีพนี้บ้างครับ

คุณท็อป: จากความเห็นส่วนตัวของผมนั้นผมว่า ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถมนุษย์ครับ เราทุกคนสามารถเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างได้พากเพียรเสมอหากเรามี ฝัน หรือ Passion ที่แข็งแรงพอ

สำหรับผมเองนั้นผมยังต้องเรียนรู้เรื่องอื่นๆอีกมากในด้านนี้ โดยเฉพาะการ Coding ซึ่งเป็นข้อจำกัดของผมอย่างนึง แต่ผมกลับรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ลองทำ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เหมือนได้เล่นของเล่นใหม่อยู่เรื่อยๆ 

ก่อนผมเข้ามาในสายงานนี้ ผมเริ่มต้นจากการ search คำว่า “data คืออะไร” เมื่อได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น แล้วพบว่าผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขนาดนั้นเลย มีอะไรใหม่ให้เรียนรู้ตลอด จึงเป็นเหตุผลหลักอย่างนึงที่ทำให้ผมไม่อยากที่จะหยุดในการเรียนรู้ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม

สำหรับอาชีพนี้ สิ่งที่ผมคิดว่าต้องมี คือ ต้องมีการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบระเบียบ เพราะงานสายนี้จำเป็นต้องใช้ค่อนข้างมาก เช่น การทำความสะอาดข้อมูล เราก็ต้องสื่อสารกันในทีมให้เป็นระเบียบว่าต้อง Filter แบบนี้ ใช้ Template แบบนี้ เพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลาในการจัดการข้อมูล

นอกจากนั้น ต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัยตลอดเวลา เพราะเวลาเราสงสัย จะทำให้เราได้คำตอบมาสนับสนุนการวิเคราะห์ของเรามากยิ่งขึ้นครับ

สรุป งาน Data Analyst ในธุรกิจ E-Commerce ต้องทำอะไรบ้าง

top data analyst ecommerce role
สรุปงานหลักของคุณท็อป คือ การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ครับ

จากที่เราได้คุยกับคุณท็อปไปแล้ว จะเห็นได้ว่างาน Data Analyst เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล, การทำ Dashboard, และความสามารถด้านการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม รวมไปถึงทีมอื่น ๆ ในองค์กรเลยครับ

และเรายังได้เห็นว่าการจะเป็น Data Analyst ในธุรกิจ E-Commerce ต้องเป็นคนที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้เร็ว เพื่อให้วิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในธุรกิจสายนี้ครับ

สำหรับการจะมาทำอาชีพนี้ คุณท็อปได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเรียนสายตรงมาก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต และมีึความพยายาม ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแน่ครับ

สำหรับคนที่สนใจอาชีพสายอื่น ๆ ในด้าน Data Science ไม่ว่าจะเป็น Data Scientist, Data Engineer, Data Analyst ในสายงาน Consult, BI Report Specialist ในสายการเงิน ฯลฯ เดี๋ยวโอกาสหน้าแอดจะไปสัมภาษณ์มาให้กันอีกนะครับ สามารถติดตามเนื้อหาใหม่ ๆ ได้จากเพจ Data Science ชิลชิล เช่นเดิมเลยครับ และถ้าใครทำงานด้านนี้ หรือมีเพื่อนทำงานด้านนี้อยู่ และยินดีให้สัมภาษณ์ ก็ส่งข้อความมาในเพจได้เลยนะครับ

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save