คนทำงานยุคใหม่ ต้องรู้เรื่อง Data: เก็บทำไม เก็บอย่างไร เก็บแล้วได้อะไร

data science marketing

Podcast เป็นอีกหนึ่งกระแสที่มาเเรงากๆในยุคนี้ แอดแจนเองก็เป็นอีกคนที่ชอบฟัง Podcast Channel ต่างๆตอนที่ว่างๆ จนวันนึงไปเจอ Channel : Super Productive จาก The Standard ชื่อตอน คนทำงานยุคใหม่ต้องรู้เรื่อง Data เก็บทำไม เก็บอย่างไร เก็บแล้วได้อะไร พบว่าในตอนนี้เขาได้เล่ามุมมองในหัวข้อเรื่อง Data ที่คนทำงานยุคใหม่ควรรู้ได้อย่างน่าสนใจ แอดเลยขอมาเล่าสู่กันฟังค่า

บทความตอนนี้อ้างอิงจาก SuperProductive Ep.13 คุณรวิศ หาญอุตสาหะ (CEO แบรนด์ศรีจันทร์) คุยกับ เอิร์ธ-อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานกรรมการบริหาร Adapter Digital Group และมุมมองของแอดที่เรียนและทำงานด้านการตลาดมาค่า

นักการตลาดยุคเก่า VS นักการตลาดยุค Digital

data science marketing focus group interview
Face to Face Interview หรือการทำ Focus Group ถือเป็นวิธีเก็บข้อมูลทาง Marketing ที่ได้รับความนิยม และได้ผลดีมากในยุค Offline

การทำงานของนักการตลาดสมัยก่อนเป็นอย่างไร ?

  • จะคิดแคมเปญแต่ละที ก็จะมานั่งเทียน ให้ไอเดียพลุ่งพล่าน และตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ตามอารมณ์และสัญชาติญาณ
  • ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า เป็นแบบ Mass Media คือต้องสื่อสารเพียง Message เดียวไปยังทุกคน
  • คิดแคมเปญยิงยาวตลอดทั้งปี ไม่มีการปรับเปลี่ยน
  • ลงไปสัมภาษณ์ข้อมูลลูกค้าแบบ Offline เช่น Face to Face , Focus Group
  • เก็บข้อมูลแบบกระจัดกระจาย ไม่มีฐานข้อมูลที่ดี เก็บข้อมูลใส่เอกสารเป็นตั้งๆ หาข้อมูลที เสียเวลาเป็นวันๆ

วิธีเดิมๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ ต้องมองหากุญแจใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรอยู่รอด

เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแยกกันไม่ออก ข่าวสารต่างๆถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลต่างๆมีมากมายบนโลกออนไลน์ คนที่ชนะจะต้องหยิบจับข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อองค์กรมาใช้ได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา จะเห็นได้ว่ายุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไปจาก Digital first เป็น Data first

ข้อมูลจะเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คุณอยู่รอดในยุคนี้

หลายบริษัทมีข้อมูลอยู่แล้วแต่ไม่รู้ตัว แม้กระทั่งข้อมูลบัญชีก็เป็นข้อมูลรูปแบบหนึ่ง เพียงแค่คนทำงานต้องรู้ว่าถ้าอยากเอามาใช้ประโยชน์ต่อ ต้องเก็บข้อมูลอะไรเพิ่ม หรือจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์อย่างไร

ทุกบริษัทมีข้อมูลแต่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าจะเอาข้อมูลไปใช้ทำอะไรต่อแล้วต้องเก็บข้อมูลอะไรเพิ่มบ้าง

ข้อมูล 2 ประเภทในธุรกิจ และวิธีการเก็บข้อมูล

ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จัก ประเภทของข้อมูล ซะก่อน

การเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ได้มาจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ เช่น

  • ข้อมูลโปรไฟล์ของลูกค้า : เพศ อายุ
  • ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า : พฤติกรรมการซื้อ , พฤติกรรมการเสพสื่อโซเชี่ยลมีเดีย , ความสนใจของลูกค้า

เอาไปใช้วิเคราะห์หาโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ

เริ่มต้นการเก็บข้อมูลดิบ (Raw data) โดย ต้องรู้ว่าจะเก็บข้อมูลออะไรและข้อมูลดังกล่าวเป็นประเภทใด

ข้อมูลมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  1. External Data (ข้อมูลภายนอกของลูกค้า) เช่น ข้อมูลภาพรวมตลาด,ข้อมูลการเสพสื่อโดยรวมของกลุ่มเป้าหมาย, market landscape (ex. จำนวนคนโหลด คนใช้ อัตราการโตของตลาดนั้นๆ)
  2. Internal Data (ข้อมูลภายในของลูกค้า) เช่น ข้อมูล Demographic ของลูกค้าแต่ละคน , ข้อมูล Transaction , เก็บความถี่ในการซื้อสินค้าแต่ละชิ้น

แล้วเราจะเก็บข้อมูลทั้ง 2 ประเภทนี้ได้ยังไง ?

แบรนด์เองสามารถเก็บข้อมูลได้ทุกๆช่องทาง เช่น เว็บไซต์, หน้าร้าน, โซเชียลมีเดีย โดยใช้เครื่องมือเก็บข้อมูล หรือวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว โดย

สำหรับข้อมูล External Data (ข้อมูลภายนอกของลูกค้า) มีหลากหลายวิธี เช่น

  • โปรแกรม ​Microsoft Excel
    โปรแกรมที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว Excel สามารถแสดงผลข้อมูลให้เข้าใจง่ายโดยการ Visualize ออกมาเป็นภาพผ่านรูปแบบตารางหรือกราฟ โดยมันจะช่วยทำให้ตัวเลขที่อยู่รวมกันจำนวนมาก กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งบางทีทำให้เราเห็นมุมมองหรือโอกาสใหม่ๆที่ไม่คาดคิดได้
  • Social Listening Tools
    เครื่องมือ Social Listening เป็นเครื่องมือที่จะดึงข้อมูลจาก Social Network ต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter, Pantip ฯลฯ แล้วสรุปข้อมูลมาให้เราว่ามีการพูดถึงแบรนด์รวมถึงแบรนด์คู่แข่งอย่างไรบ้าง สามารถบอกได้ทั้งในแง่ลบและแง่บวก ซึ่งมันสามารถวัดความสำเร็จของแคมเปญหรือคอนเทนต์ที่ปล่อยออกไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์สามารถปรับเปลี่ยนได้ในทุกสถานการณ์ สำหรับเครื่องมือนี้ มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน เลือกเอาตามฟีเจอร์ที่แบรนด์ต้องการ
google trend data analytics report
Google Search Trend เป็นหนึ่งในเครื่องมือฟรี ที่เราสามารถเปรียบเทียบจำนวนคนค้นหา พร้อมดูข้อมูล Demographic ได้ทันที
  • Google Search Trend
    คนในปัจจุบัน มีอะไรก็จะเสิร์ชหาจากใน Google เพื่อหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจอยู่ตลอด โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง (High Value) แบรนด์สามารถเสิร์ชเทรนด์ต่างๆได้ ด้วยการใช้คำคีย์เวิร์ด เพื่อให้เห็นภาพรวมของตลาดได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือสามารถใช้ได้ฟรี
  • Market Landscape
    สำหรับธุรกิจบนระบบออนไลน์ เช่น Website หรือ Application เราสามารถใช้เครื่องมือประเภท Landscape Overview เช่น Similarweb เพื่อดูได้ว่าการเติบโตของธุรกิจเราเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

สำหรับข้อมูล Internal Data (ข้อมูลภายในของลูกค้า)

  • สำหรับขั้นเริ่มต้น เราสามารถใช้ Excel ในการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลได้ แต่เมื่อมีข้อมูลเยอะมากขึ้น (Big Data) การใช้ Excel ก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกต่อไป ทำให้เราต้องใช้เครื่องมือระดับสูงขึ้น เช่น ฐานข้อมูล และ BI Tool

เมื่อเราเข้าใจประเภทของข้อมูลหลักๆ 2 ประเภท ก็สามารถออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันจะช่วยทุ่นแรงเราได้มาก หรือหากไม่อยากใช้เครื่องมือสำเร็จรูป ก็สามารถบอกโจทย์ความต้องการกับทีม Data ให้เขาไปเขียนโค้ดเอาได้ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เราต้องการจริงๆ

เมื่อมีขุมทรัพย์ข้อมูลแล้ว ต้องทำอะไรต่อ ?

salesforce data marketing
Salesforce – เครื่องมือที่ได้รับความนิยมในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า

นั่นน่ะสิ รู้ความสำคัญของข้อมูลก็แล้ว ใช้เครื่องมือต่างๆจนบริษัทมีข้อมูลเต็มไปหมดแล้วเราต้องทำอะไรต่อนะ ?

โจทย์ง่ายๆของการใช้ข้อมูลมี 3 ขั้นตอน คือ ‘เก็บข้อมูล นำข้อมูลไปใช้ อัปเดตข้อมูลให้สดใหม่’ ทำเช่นนี้วนไปเรื่อยๆ

จากการสำรวจทั่วโลก 100% ของการเก็บข้อมูล มีเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกนำไปใช้จริง ฉะนั้นไม่จำเป็นว่าเราจะเก็บข้อมูลได้มากหรือน้อยในตอนนี้ แต่มันสำคัญว่าข้อมูลที่เก็บได้จะนำไปถูกใช้ต่อหรือเปล่า

Super Productive Podcast: คนทำงานยุคใหม่ต้องรู้เรื่อง Data เก็บทำไม เก็บอย่างไร เก็บแล้วได้อะไร

บริษัทที่อยากจะวางแผนการนำข้อมูลมาใช้จะต้อง

  • วางแผนเก็บข้อมูลระยะสั้น และระยะยาว
  • วางแผนการนำไปใช้

จริงๆแล้วทุกบริษัทมีข้อมูลแต่ไม่รู้วิธีนำมาใช้ ถ้าลองเอาวิเคราะห์จะเริ่มเห็นทิศทางมากขึ้นเอง โดยสิ่งที่พึงระวังคือแต่ละแผนกก็มีการเก็บข้อมูลของตัวเองไว้ ใช้วิธีในการฟิลเตอร์ข้อมูลที่ต่างกัน ทำให้เมื่อเอาข้อมูลมารวมกันต้องมีกระบวนการจัดการข้อมูลให้มีรูปแบบเดียวกับอีกรอบ ซึ่งเปลืองพลังงานกายและพลังใจ

ดังนั้นองค์กรควรมีรูปแบบการเก็บข้อมูล เพื่อให้รูปแบบเป็นไปในทิศทางเดียวกันค่ะ

Return สำหรับองค์กรที่ลงทุนในข้อมูล

เมื่อองค์กรเป็น Data Driven Organization แล้วจะทำให้องค์กรปรับตัวทันตามความต้องการของลูกค้า สามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงสามารถพัฒนาธุรกิจเดิม เช่น หากข้อมูลแสดงสัดส่วนลูกค้าใหม่ต่อลูกค้าประจำ ปรากฏว่าลูกค้าเก่าน้อย ก็ต้องเพิ่มกลยุทธ์ในส่วนของ loyalty program ให้มากยิ่งขึ้น

ซึ่งการที่องค์กรใช้ข้อมูลในการตัดสินใจจะช่วยให้การตัดสินใจแม่นยำ ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด ทำให้ประหยัด ไม่เสียเงินไปลงทุนกับสิ่งทีไม่ใช่อีกต่อไป

Trend ที่เปลี่ยนไป เมื่อ Data เข้ามา

องค์กรสมัยก่อนจะทำงานแบบ step by step ส่งต่อกันไปเรื่อยๆในแต่ละทีม แต่ละทีมมีหน้าที่ตายตัว ทำให้การทำงานมีความล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ผู้บริหารจะต้องมี Data Mindset และรู้ว่าเรื่องของ Data ไม่ใช่แค่เรื่องของทีมใดทีมนึง แต่ทุกคนในองค์กรต้องตระหนักถึงจุดนี้ และสามารถนำพาองค์กรให้เป็น Data Driven Organization ปรับตัวให้ทันกับตลาดและคู่แข่ง และอยู่รอดในยุคนี้

ปัจจุบันทุกอย่างเกิดขึ้นและได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทุกทีมต้องแอคทีฟพร้อมกันก่อนที่กระแส (momentum) จะเปลี่ยน ทีมวางกลยุทธ์การตลาดและทีมคอนเท้นท์ จะต้องลดเวลาลงเพื่อให้ตอบสนองผู้บริโภคอย่างไวที่สุด

แนวโน้มทางการตลาดในปี 2019

data driven company analytics
องค์กรในยุคนี้ต้องเข้าสู่ยุค Data Driven โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้
  • Data is the key ข้อมูลเป็นกุญแจไปสู่สิ่งที่ไม่รู้ ในหลายๆครั้งที่เราวิเคราะห์หรือ Visualize ข้อมูลออกมาแล้วจะเจอสิ่งที่คาดไม่ถึง เราต้องวิเคราะห์ และ ตีโจทย์ออกมาให้ตอบกลุ่มเป้าหมาย
  • ‘Data ไม่ใช่เรื่องของ Data team หรือ Data people แต่ Data เป็นเรื่องของทุกคนในองค์กร’ ขึ้นกับว่าจะเอาไปใช้ทางไหน
  • เมื่อองค์กรใช้ข้อมูล คนในทีมต้องอัปเดท และเช็คว่าจะเอาข้อมูลอะไรเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและลูกค้าให้ดีขึ้น
  • หลังจากวิเคราห์ข้อมูลจนได้แพทเทิร์นของข้อมูลแล้ว CEO จึงตัดสินว่าธุรกิจจะไปทางไหน
  • วนลูป (เก็บข้อมูล นำข้อมูลไปใช้ อัปเดตข้อมูลให้สดใหม่)
  • แบรนด์ต้องตอบโจทย์ลูกค้าแบบ Personalize ตามความต้องการรายบุคคล

ต้องยอมรับว่าการนั่งเทียนคิดแคมเปญใหญ่ๆครอบคลุมทั้งปีโดยไม่ปรับเปลี่ยนอะไรมันอยู่ไม่รอดแล้ว ดูตัวอย่างจากคลาสสิคเคส แม้ว่า Kodak และ Nokia จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แต่ก็ต้องถูก Disrupt ไปเพราะไม่ปรับตัวตามยุคสมัย และ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป (แทบจะตลอดเวลา )ของลูกค้า

นักการตลาดยุคใหม่ รวมถึงแอดเอง ก็ต้องปรับตัวและศึกษาเรื่อง ‘ข้อมูล’ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าอย่างตรงจุด

ทุกคนเลือกได้เองว่าจะเป็น  The Disruptor หรือถูก Disrupt

คุณล่ะ จะเลือกอะไร ? :D

รอติดตามคอนเท้นท์หน้าเกี่ยวกับการ Applied เรื่องการตลาดกับข้อมูล รับรองว่านักการตลาดอ่านแล้วจะต้องเกิดไอเดียใหม่ๆขึ้นมาแน่นอนนนนน

สามารถคอมเม้นท์ติชม หรือเสนอคอนเท้นท์ที่เพื่อนๆอยากรู้ได้ที่ Data Science ชิลชิล เลยค่า ไว้เจอกันใหม่คอนเท้นท์หน้า :D

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save