Data Engineer มือใหม่ หางานยังไงดี? แนะนำโดย Data Engineer ตัวจริง จาก LINE MAN Wongnai & MSyne Innovations

new job data engineer lineman wongnai mfec

สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครงานสาย Data Engineering โดยเฉพาะผู้ที่จบไม่ตรงสาย และอยากเปลี่ยนสายงานมาด้าน Data Engineer วันนี้เรามีบทสรุปสั้น ๆ จากบทสัมภาษณ์ของผู้มีประสบการณ์มาฝากกัน

โดยข้อมูลในบทความนี้มาจากวีดิโอ DataTH Live: เทคนิคหางาน สมัครนานมั้ย สัมภาษณ์ Data Engineer กับบริษัทดัง โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์ 2 ท่านด้วยกันคือคุณหน่อง ซึ่งเป็น Data Engineer ที่ LINE MAN Wongnai และคุณเต้ ผู้ที่เรียนจบด้านจิตวิทยามา แต่ปัจจุบันเป็น Data Engineer อยู่ที่บริษัท Msyne ในเครือ MFEC

ทีมงาน DataTH ได้ถอดบทสัมภาษณ์และสรุปเป็นตัวหนังสือมาให้อ่านกันง่าย ๆ ด้านล่างนี้ค่ะ เป็นบทสัมภาษณ์ระหว่างคุณหน่อง คุณเต้ แอดเพิร์ธ และแอดฝน DataTH ค่ะ หรือถ้าใครชอบแบบวีดิโอมากกว่า กดดูด้านล่างนี้ได้นะคะ

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ทั้งสองท่านหันมาสนใจงานด้าน Data Engineer?

คุณหน่อง: ผมเคยลองเรียนคอร์สสั้น ๆ เป็นเกี่ยวกับการเริ่มต้นงานสาย Data Science แล้วพบว่ามันน่าสนใจ แต่พอได้ลองทำงานในฝั่งของ Data Science แบบลึก ๆ แล้วพบว่าเราไม่ค่อยชอบ เนื่องจากมีเรื่องของสถิติเยอะ ซึ่งเราถนัดการเขียนโค้ดมากกว่า เลยหันมาลองทำสาย Data Analyst ดู ประกอบกับช่วงนั้นแอดเพิร์ธเปิดตัว R2DE แล้วได้ลองเรียนดู ก็พบว่าตัวเองชอบงานสายนี้จริง ๆ

คุณเต้: ตอนแรกที่ไปเรียนด้าน Data Science ก็พบว่าเราไม่ชอบสถิติ ไม่ชอบตัวเลข แต่ชอบการเขียนโค้ดมาก ๆ ก็เลยลองเรียนคอร์สกับ DataTH แล้วก็พบว่าเรา ทำให้พบว่ามันเหมือนเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างสิ่งที่เราชอบคือ Coding และการควบคุมซอฟต์แวร์ ตอนแรกไม่คิดเลยว่าจะมาเรียนสาย Data Engineering เพราะเราไม่ได้จบด้าน Engineer มา พอได้ลองแล้วก็รู้เลยว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด

แอดเพิร์ธ: คุณเต้กับคุณหน่องสนใจเรื่องอะไรเกี่ยวกับ Data เป็นพิเศษ ถึงอยากทำงานด้านนี้?

คุณเต้: ตอนแรกคิดว่าเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ควรมีความรู้ติดไว้ เริ่มจากแค่อยากเขียนโค้ดเป็นบ้าง แล้วพอได้มาเรียนจริง ๆ ก็รู้สึกชอบมาก ชอบ Logic แล้วก็การทำงานกับข้อมูลครับ

คุณหน่อง: เริ่มจากการที่เรารู้สึกว่าอยากเป็นคนที่เชื่อมโยงข้อมูลหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน ตอนนั้นแหละที่ไปลองเรียนคอร์สของ Data Science แล้วก็ศึกษามาเรื่อย ๆ จนพบว่า Data Engeneer นี่แหละที่น่าจะเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

“ลองเรียนคอร์สกับ DataTH แล้วก็พบว่าเรา ทำให้พบว่านี่คือสิ่งที่ชอบ

คุณหน่อง – Data Engineer ที่ LINE MAN Wongnai
problem data engineer job
ปัญหาที่ต้องเจอตอนเริ่มสมัครงาน Data Engineer

ตอนเริ่มต้นสมัครงานด้าน Data Engineer แรก ๆ เจอปัญหาอะไรกันบ้าง?

คุณหน่อง: หลังจากที่เป็น Software Engineer มาเป็น SQL Developer แล้วพยายามหาสมัครงาน Data Science, Data Engineer ต้องบอกว่าแอบเฟลเพราะไม่มีใครรับเราเลย หลาย ๆ ที่ให้เหตุผลว่าผมเป็น Software Engineer มา สกิลมันอาจจะไม่ตรงกัน

คุณเต้: ของผมจะเป็นเรื่องของการเขียนเรซูเม่มากกว่า ตอนแรกก็คิดอยู่ว่าจะเขียนเรซูเม่ยังไง เพราะเราย้ายสายมา ไม่ได้จบด้านนี้หรือทำงานด้านนี้โดยตรง

แอดเพิร์ธ: เพราะย้ายสายมาด้วยใช่ไหมครับ ไม่ได้จบตรงด้านนี้มา Resume เลยโล่ง ๆ

คุณเต้: ใช่ครับ แต่ตอนนั้นก็ใช้วิธีแบบไปหาข้อมูลตามบล็อกต่าง ๆ ซึ่งมีคนแนะนำเอาไว้ว่าให้เริ่มทำโปรเกจต์เล็ก ๆ ด้วยตัวเอง พอหลังจากเรียน SQL ผมก็เลยไปช่วยพี่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลของร้านขายสินค้าออนไลน์ ก็เริ่มจากการใส่โค้ดให้สินค้า เอาข้อมูลมาลง Excel แล้ววิเคราะห์ข้อมูลกัน แล้วก็เอาผลลัพธ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโปรเกจต์เหล่านี้นี่แหละครับมาใส่ในพอร์ตและเรซูเม่ในช่วงแรก ๆ

คุณหน่อง: ของผมนี่ทำพอร์ตยังไม่ทันเสร็จก็ส่งไปสมัครแล้วครับ ซึ่งมีคนติดต่อกลับมาจริง ๆ ก็คือที่ LINE MAN นี่แหละครับ พร้อมกับให้ทำแบบทดสอบ

เข้าไปอ่านวิธีการเขียน Resume ได้ที่ 10 เทคนิคทำ Resume สาย Data ให้โดดเด่น เตรียมพร้อมสมัครงาน แบบผ่านฉลุย

ใช้เวลานานแค่ไหน จากการเรียนคอร์สจบ จนถึงสมัครงานสาย Data Engineer?

คุณหน่อง: ถ้านับรวมกับช่วงที่ผมเริ่มหางาน Data Engineer จริง ๆ ก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีเลยครับ ถึงจะได้เริ่มทำงานสายนี้จริง ๆ ตอนแรกก็เริ่มจากการย้ายตัวเองให้ไปอยู่ใน Career Path ของสาย Data ก่อนเลย ก็เลือกเป็น DBA ก่อน แล้วก็พยายามเก็บสกิลตรงนั้นเอามาใช้ต่อ แล้วก็หางานผ่านพวก LinkedIn, JobsDB รวมถึงได้โอกาสจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่รู้จักกันด้วย

คุณเต้: สำหรับผมแล้ว รวม ๆ อยู่ที่ประมาณ 8 เดือนครับกว่าจะสมัคร Data Engineer แต่เรียน Data Engineer จริง ๆ ก็คือประมาณ 3 เดือนครับ

เริ่มจากการย้ายตัวเองให้ไปอยู่ใน Career Path ของสาย Data แล้วก็พยายามเก็บสกิลตรงนั้นเอามาใช้ต่อ

คุณหน่อง – Data Engineer ที่ LINE MAN Wongnai
question interview data engineer
คำถามสัมภาษณ์งานสาย Data Engineer

ตอนสัมภาษณ์งาน Data Engineer เจอกับคำถามแบบไหนบ้าง

คุณหน่อง: เวลาสัมภาษณ์ก็จะเจอกับคำถามประมาณว่าเคยผ่านงานอะไรมาบ้าง เราสนใจในด้านไหน แล้วก็มีการส่งแบบทดสอบมาให้ทำ

คุณเต้: ด้วยความที่ส่วนมากบริษัทจะมองหาคนที่มีประสบการณ์ 2-3 ปีอยู่แล้ว ทำให้หาบริษัทที่รับจูเนียร์ยากเหมือนกัน ผมได้สัมภาษณ์จริง ๆ ประมาณ 2 ที่ ถ้าโดน Technical ก็จะมีการให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับหลายเรื่องเช่น Big Data, Coding, Software อะไรแบบนี้

แอดเพิร์ธ: ยกตัวอย่างพวกแบบทดสอบให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ?

คุณหน่อง: อย่างของผมคือเขาจะมีโจทย์ประมาณ 7-8 หน้ามาให้ลองทำ ให้เวลาหนึ่งอาทิตย์ ตอนนั้นคือนั่งทำวันละหัวข้อ เรารีเสิร์ชเอาข้อมูลบางอย่างจาก Live, Special Live หรือจากเนื้อหาที่เรียนในคอร์สมาตอบ บางหัวข้อก็ดูจากสไลด์ของแอดเพิร์ธมาแล้วเขียนอธิบายว่าสิ่งที่เรารู้มันประมาณนี้ เราเคยได้สัมผัสเรื่องตรงนี้มา เราคิดว่ามันเป็นประมาณนี้นะ

คุณเต้: ของผมจะมีแบบทดสอบที่เป็นข้อ ๆ ให้เลือก ไม่เยอะมาก เขาสัมภาษณ์แล้วเน้นที่ Soft Skills เรามากกว่า แล้วก็จะมีเรื่องของการอธิบายโปรเจกต์ที่เราทำ พูดถึงขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงเวลาสัมภาษณ์ด้วยที่ต้องจำเครื่องมือต่าง ๆ ให้ได้ว่าใช้อย่างไร สำคัญอย่างไร เราต้องให้เหตุผลให้ได้ว่าทำไมเราถึงใช้ มันต่างจากเครื่องมืออื่นยังไง ประมาณนี้ครับ อย่างคอร์ส Road to Data Engineer ของ DataTH ก็ช่วยได้เยอะในส่วนนี้

แอดเพิร์ธ: มีคำถามโหด ๆ บ้างไหมครับ?

คุณเต้: คำถามที่โดนหนัก ๆ สำหรับผม ผมโดนเรื่องมีเคสจำลองมาให้ สมมติว่าข้อมูลเซิฟเวอร์เราโหลดเท่านี้ ใช้ระยะเวลาเท่านี้ โหลดไปที่ Database ก้อนหนึ่ง เราจะทำยังไงให้มันรันไวขึ้น ซึ่งต้องตอบปากเปล่า มีเวลาให้คิดไม่ถึง 5 นาที แล้วก็จะมีคำถามแบบว่า “ถ้าเลือกได้เราจะใช้ซอฟแวร์แบบไหนในการช่วยให้มันทำงานได้ดีขึ้น เพราะอะไรเราถึงเลือกซอฟแวร์ตัวนั้น?” อะไรแบบนี้ครับ

คุณหน่อง: ของผมคือจะติดเวลาที่เขาถามถึงข้อมูลเชิงลึก เชิงเทคนิคแบบลึก ๆ จริง ๆ แล้วผมตอบไม่ได้ ผมก็บอกไปว่า “ขอโทษด้วยครับ อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวผมไปหาข้อมูลมาให้แล้วมาตอบพรุ่งนี้แล้วกันนะครับ” พอเขาถามเราลงไปลึก ๆ ก็ตอบไม่ได้เลยสักอย่าง ก็เลยวนกลับมาว่าเราชอบทำอะไร ทำอะไรได้บ้าง สนใจด้านไหน

แอดเพิร์ธ: อันนี้ถือว่าดีมาก ๆ เลยนะครับ โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเริ่มต้นในสายงานนี้ เพราะเวลาเจอคำถามยาก ๆ ลึก ๆ เราอาจจะบอกว่า “ไม่รู้” ก็ได้ แต่ถ้าเราตอบแบบแสดงให้เห็นว่าเรามีความสนใจจริง ๆ ก็อาจจะช่วยเปิดโอกาสให้ทีมพิจารณาเรามากขึ้น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คงหาคนที่เก่งด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าเป็นจูเนียร์เขาอาจจะไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น แต่เขาคาดหวังว่าเราสามารถทำงานร่วมกับเขาได้มากกว่า

แอดฝน: จริง ๆ แล้วการตอบว่าไม่รู้ก็ไม่ได้เป็นความผิดอะไรนะคะ บางทีเราอาจจะบอกในงานก่อนหน้าที่เราเคยทำว่าเราไม่เคยทำตรงนี้ เราไม่รู้ แต่หลังจากนี้เราอาจจะเสริมความคิดเห็นตัวเองไปก็ได้นะคะ

“การสัมภาษณ์ Data Engineer มีการให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับหลายเรื่องเช่น Big Data, Coding, Software

คุณเต้ – Data Engineer ที่ Msyne ในเครือ MFEC
road to data engineer assist job
คอร์ส Road to Data Engineer ช่วยในการหางานอย่างไรบ้าง

คอร์ส Road to Data Engineer ของ DataTH นำไปใช้ในการใช้สัมภาษณ์ หรือทำงานได้อย่างไรบ้าง?

คุณหน่อง: ผมใช้ความรู้จากคอร์ส R2DE ของ DataTH ในการปูพื้นฐานตั้งแต่เริ่ม อย่างหลัก Airflow ที่ผมบอกเลยว่าได้ใช้ 100% แล้วก็มีพวก GCP, Kubernetes, Git, CI/CD ด้วย คือช่วยได้มาก เหมือนเป็นการปูพื้นฐานที่ดีระดับหนึ่ง ที่เหลือผมก็ไป Stack Overflow ทีหลัง

คุณเต้: จากที่เล่าไปผมมองว่าความรู้พื้นฐานมันสำคัญมาก บางทีเราอาจจะไม่ต้องใช้งานจริงขนาดนั้น แต่คอร์สนี้เหมือนเป็นความรู้ที่เราต้องมีเผื่อไว้เพื่อทำงาน ถ้าเราต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับซอฟต์แวร์แต่ละตัว ETL และข้อมูลต่าง ๆ เองมันน่าจะยาก เพราะ Data Engineer ก็ใช้ซอฟต์แวร์เยอะจริง ๆ รู้สึกว่าคอร์สนี้ทำให้เห็นภาพรวมได้ดี แล้วก็ทำให้เราเห็นเป้าหมายชัดขึ้นว่าเราทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร Tools ต่าง ๆ ที่เราใช้ เราใช้ไปเพื่ออะไร

แอดเพิร์ธ: คนสอนรู้สึกปลาบปลื้มเลยครับ

คุณเต้: ยิ่งได้เรียนรู้จากคนที่เขามีประสบการณ์แล้วยิ่งดีเลยครับ อย่างแอดฝนที่เข้ามาช่วยไกด์ให้ ก็ช่วยได้เยอะเลย เหมือนย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ของเราด้วย

แอดฝน: เห็นด้วยเลยค่ะว่ามันมี Tools เยอะมาก ๆ แล้วก็ไม่ซ้ำกันเลยจริง ๆ แต่ละที่ก็จะมีการใช้ Tools ที่แตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกับในคอร์สซะทีเดียว แต่ถ้าบางที่ใช้คล้าย ๆ กันก็ถือว่าโชคดีไปค่ะ ต้องบอกเลยว่าโลกของ Data Engineer มันกว้างมากจริง ๆ ค่ะ

แอดเพิร์ธ: ข้อดีของเทคโนโลยีมันเยอะมากก็จริง แต่ถ้าเรามีพื้นฐานอย่างที่คุณเต้และคุณหน่องบอก มันก็จะช่วยทำให้สามารถนำไปต่อยอดได้ดีมาก ๆ เลยล่ะครับ อย่างเช่นเรื่อง Airflow, Pipeline เนี่ย ถ้าเคยใช้และรู้จัก ก็จะสามารถใช้เครื่องมืออื่น ๆ ในด้าน Data Pipeline ได้เหมือน ๆ กัน เพราะหลักการมันคล้าย ๆ กัน

ผมใช้ความรู้จากคอร์ส Road to Data Engineer ของ DataTH ในการปูพื้นฐานตั้งแต่เริ่ม เป็นการปูพื้นฐานที่ดี

คุณหน่อง – Data Engineer ที่ LINE MAN Wongnai
data engineer job reality expectations
สิ่งที่คาดหวัง vs ตอนทำงานจริง ในงาน Data Engineer

หลังเริ่มงานสาย Data Engineering แล้ว มีอะไรที่แตกต่างไปจากที่คิดไว้บ้างไหม?

คุณเต้: ผมอยู่ Msyne ซึ่งเป็น IT Consultant ด้าน Big Data Solution ก่อนไปทำงานก็เรียนมาแน่นเลย เหมือน Airflow เรียน ETL แต่ก็พอได้เข้าไปทำงานก็รู้ว่าเขาใช้เครื่องมืออื่น ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น Informatica ทำให้รู้ว่าเราต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลาจริง ๆ

คุณหน่อง: ผมเคยทำ Data Aggregator มาก่อน ก็เลยพอจะวาดภาพในหัวได้ว่าถ้าเป็นงานที่สาย Data Engineering น่าจะเป็นงานประมาณนี้นะ แต่พอได้มาทำจริง ๆ รู้สึกว่างานในสาย Data Engineering มันค่อนข้างกว้าง Tools มันเยอะ แล้วเราสามารถผสมวิธีการของแต่ละ Tools เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการ ได้หลายรูปแบบ

คุณเต้: ผมว่ามันก็ไม่ได้ต่างจากที่เราคิดในเรื่องของการทำงานมากขนาดนั้น ก็พอเดาได้ว่าเป็นเรื่องประมาณนี้ เหมือนกึ่ง ๆ แก้ปัญหาให้กับเรื่องต่าง ๆ เหมือนเราต้อง Service คนอื่นด้วย ไม่ได้นั่งเขียนโค้ดทั้งวัน

แอดฝน: ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กับการแก้ไขปัญหาที่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงในตอนแรกที่สมัครงาน

แอดเพิร์ธ: ผมว่าอย่างที่ทั้งสองท่านพูดถึงเนี่ยเป็นเรื่องปกติของการทำงานสาย Data Engineer เลยนะครับ ต้องพึ่งพาการคิดเป็นระบบให้ได้ แก้ตรงไหนดี เริ่มจากตรงไหนก่อนดี

แอดฝน: เหมือนเราจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ทำยังไงให้งานที่เราทำตอนนี้มันไม่กลายมาเป็นภาระของเราในอนาคตด้วย ลด Technical Debt ต่าง ๆ เหมือนต้องมองภาพรวมยาว ๆ ด้วย ไม่ใช่ทำแค่โปรเจกต์เดียวแล้วก็จบ ๆ ไป

data engineer skills
สกิลที่คนอยากสมัครงานด้าน Data Engineer ต้องมี

อยากแนะนำให้คนที่อยากทำงานสายนี้ฝึกสกิลด้านไหนเป็นพิเศษบ้างไหม?

คุณหน่อง: ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญอย่างแรกของผมคือ Spark, PySpark อะไรพวกนี้ อย่างที่สองคือ  Python เพราะทุกวันนี้จะใช้ 2 ตัวนี้ในการเขียนโค้ดเป็นหลัก ถ้าเป็นข้างเคียงก็จะเป็นความรู้ CI/CD กับพวก Kubernetes แล้วก็ทักษะการแก้ปัญหาด้วยครับ ที่มองว่าสำคัญมาก ๆ ในสายงานนี้

คุณเต้: ผมมองว่าซอฟต์สกิลสำคัญนะ พวก Critical Thinking, Problem Solving เหมือนมันทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้ไวขึ้นด้วย ผมรู้สึกว่าถ้าเราฝึกคิดแบบ Critical Thinking ว่าทำไปทำไม ทำไมถึงต้องใช้ตัวนี้ ทำไมถึงใช้ตัวอื่นไม่ได้อะไรแบบนี้ จะช่วยตอนทำงานได้เยอะเลย แบบได้โจทย์มาแล้วต้องพยายามเข้าใจก่อนว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ พอเราคิดแบบนี้แล้ว มุมมองผมผมว่ามันทำให้เราเข้าใจงานได้ง่ายขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น และเรียนรู้ได้ไวขึ้น ประมาณนี้ครับ

แอดเพิร์ธ: ดีเลยครับ เรื่องเกี่ยวกับการมอง เป้าหมายเป็นหลักก่อนแล้วค่อยดูย้อนหลังไปว่าเทคโนโลยีที่เราดูอยู่มันจะช่วยแก้ปัญหาอะไรยังไงบ้าง อันนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากเลย มีเรื่องอื่น ๆ ที่อยากเสริมอีกไหมครับ?

แอดฝน: เสริมในส่วน Bash ฝนว่าถ้ารู้เรื่อง Infra พวก Linux อะไรงี้ ในโลกที่เป็นโลกเซิร์ฟเวอร์เขาก็ใช้เยอะ ถ้าหลาย ๆ คนทำงานก็จะได้ใช้ หรือจริง ๆ ก็อาจจะใช้อยู่ทุกวันอยู่แล้วประมาณนี้ค่ะ

แอดเพิร์ธ: ถ้าเป็นสาย SQL น่าจะเจอเยอะมากเลยครับ Infra เนี่ย แล้วก็อย่าลืมที่คุณหน่องคุณเต้ได้บอกไป เกี่ยวกับเรื่องของ Passion ในคำถามแรก ๆ เลยว่าต้องมีในส่วนนี้ด้วย

คุณเต้: เสริมจากทางคุณฝนนิดนึงนะครับ พวกการเขียน Linux หรือเขียนเกี่ยวกับ Infra นี่ ผมแทบจะไม่ได้ยุ่งเลย แต่ว่ามีความรู้ไว้บ้างก็ดีครับ

คุณหน่อง: ผมค่อนข้างได้แตะเยอะครับ เพราะว่ายังเป็นช่วงที่ต้องไปยุ่งอะไรหลายอย่างในเซิร์ฟเวอร์ มีอยู่ช่วงหนึ่งต้องใช้ค่อนข้างเยอะเลย

data engineer job beginners
สิ่งที่อยากบอกกับคนที่เพิ่งเริ่มต้น และอยากสมัครสายงาน Data Engineer

มีสิ่งที่อยากแชร์ให้คนที่อยากมาทำงานด้าน Data Engineer ไหม?

“ถึงตอนนี้เราอาจจะยังไม่เก่ง แต่ในอนาคตเราเก่งได้ถ้าฝึก”

คุณเต้ – Data Engineer ที่ Msyne ในเครือ MFEC

อย่ากดดันตัวเองมากครับ ไม่ต้องรีบเก่งเร็วเกินไป ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป

คุณหน่อง – Data Engineer ที่ LINE MAN Wongnai

คุณเต้: ผมคิดว่าความมั่นใจในตัวเองสำคัญนะ ตอนแรกผมค่อนเรียนมาเยอะ ไปลงคอร์ส Data Science ช่วงลงคอร์ส Data Science เหมือนได้จับกลุ่มทำงานเลย แล้วก็เฟลว่าทำไมเราถึงไม่เก่งแบบคนอื่น ๆ แต่พอกลับมาอยู่กับตัวเองก็คิดได้ว่าถึงตอนนี้เราอาจจะยังไม่เก่ง แต่ในอนาคตเราเก่งได้ถ้าฝึก ก็เลยดันตัวเองขึ้นมาได้ ทำให้คนอื่นเห็นแพชชันของเราได้ชัดขึ้นด้วย

คุณหน่อง: ของผมอยากบอกว่า “อย่ากดดันตัวเองมาก” ครับ ไม่ต้องรีบเก่งเร็วเกินไป ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป คนในทีมจะชอบพูดกับผมว่า วันนี้หน่องอาจจะยังไม่รู้ แต่เดี๋ยวสักวันหน่องก็ต้องรู้ แล้วก็ทำได้อยู่แล้ว

ผมก็มีโมเมนต์ที่เฟลเหมือนกัน เพราะพอเราได้เข้าไปทำงานกับทีมแล้วได้เห็นวิธีการทำงานของหลาย ๆ คน ก็รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่เป็นเลย แล้วก็นอยด์ไปอยู่ช่วงนึง พอตอบตัวเองได้ว่าฉันอยากทำงานตรงนี้ ก็ลุยเลย อะไรที่ยังทำไม่ได้ก็หาวิธี ถ้ามันไม่ได้จริง ๆ ก็ลองถามคนที่คิดว่าจะถามได้ดู ว่าเขาพอจะมีวิธีการยังไงบ้าง ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น


สำหรับใครที่กำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้และทำความเข้าใจ ปูพื้นฐานในด้าน Data Engeneering อยู่ ก็น่าจะได้เห็นภาพรวมของเส้นทางการหางาน Data Engineer การเปลี่ยนสายงานและการเริ่มต้นทำงานในสายงานนี้แล้วใช่ไหมล่ะคะ?

จากผู้ให้สัมภาษณ์ของเราที่จบมาไม่ตรงสายและทำงานอื่น ๆ มาก่อน ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ามีความตั้งใจจริง ๆ คุณเองก็สามารถทำงานสาย Data Engineer ได้เหมือนกัน แค่ตั้งเป้าหมายแล้วไปให้ถึงเท่านั้นเอง

หากชอบบทความแบบนี้ มาติดตาม และพูดคุยกันเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page ของ DataTH

ใครที่กำลังมองหาคอร์สปูพื้นฐานแบบครบถ้วนฉบับอัปเดต สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คอร์ส Road to Data Engineer ได้เลยนะครับ หรือทักมาคุยกันในเพจได้เลย

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save