TechJam 2018 งานแข่งขันเพื่อหาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ Data Science, Coding, Design ในไทย + แถมเทคนิคเตรียมตัวแข่ง

techjam data science

สวัสดีครับ จากปีที่แล้วที่แอดเคยพูดถึงงาน TechJam ในเพจกันไป ซึ่งเป็นงานที่สนุกมาก ปีนี้เค้าจัดการแข่งขันอีกรอบที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และมีโจทย์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสายต่าง ๆ (ปีนี้เรียกว่า Squad) ได้แก่ Data Science, Coding, และ UI/UX Design มาลับสมองผู้เข้าแข่งขันกันเหมือนเดิมครับ

หลาย ๆ ท่านปีที่แล้วไม่ได้เข้าแข่งขันกัน ปีนี้เค้ากำลังเปิดรับสมัครอยู่ แอดเลยเอาข้อมูลมาฝากทุกท่านกันครับ ไม่อยากให้พลาดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้

ในท้ายบทความนี้จะมีแนะนำภาษาโปรแกรมมิ่งและ Library ต่าง ๆ สำหรับท่านที่สนใจแข่งขันด้าน Data Science ครับผม และเป็น Library ชุดเดียวกับที่แอดใช้แข่งปีที่แล้ว และติดรอบ 25 คนสุดท้ายครับ (แต่ไม่ได้ไปรอบจริงเพราะตอนนั้นไม่ได้อยู่ไทย T_T)

TechJam Thailand 2018 คือการแข่งขันอะไร

TechJam เป็นงานแข่งขันเพื่อค้นหาผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่าง ๆ ที่แนะนำไปข้างต้น (Data Science, Coding, และ UI/UX Design) จัดโดย KBTG หรือบริษัทของธนาคารกสิกรไทยที่กำลังมาแรงในด้านเทคโนโลยีนั่นเองครับ

ในการแข่งขันนี้เราจะได้แก้โจทย์สุดโหดแข่งกับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะได้วัดฝีมือของตัวเองแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเข้าใจจุดที่เราขาดไป จะได้ศึกษาเพิ่มเติมไปด้วยครับ

โดยรางวัลในการแข่งขัน TechJam 2018 นี้มีมากกว่า 2 ล้านบาท รวมถึงทริปไป Silicion Valley ที่อเมริกา (ซึ่งถ้าไปเที่ยวเองก็เป็นแสนครับ) โดยเค้าแบ่งเป็นรางวัลสำหรับรอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค และรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายให้หัวข้อถัดไปครับ

TechJam 2018 งานแข่งขันเพื่อหาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ Data Science, Coding, Design ในไทย + แถมเทคนิคเตรียมตัวแข่ง 1
ใครก็สามารถสมัครแข่ง TechJam ได้ ขอแค่มีอายุ 15-60 ปี

สำหรับใครที่มีเพื่อนที่สนใจแข่งเหมือนกัน ก็สามารถชวนเพื่อนมาแข่งเป็นทีมเดียวกันได้ โดยเค้าจำกัดให้สูงสุดได้ทีมละ 2 คน เพราะฉะนั้นแอดแนะนำให้ไปชวนเพื่อนเก่ง ๆ มาเข้าทีมตั้งแต่วันนี้เลยครับ

รอบการแข่งขันทั้ง 3 รอบ ของ TechJam มีอะไรบ้าง

TechJam 2018 งานแข่งขันเพื่อหาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ Data Science, Coding, Design ในไทย + แถมเทคนิคเตรียมตัวแข่ง 2

ในปีที่แล้วมีการแข่งขันทั้งหมด 2 รอบ คือ รอบออดิชั่น แล้วไปรอบตัดสินเลย ซึ่งปีนี้เค้าต้องการจัดงานให้เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศมากขึ้น เลยกลายเป็น 3 รอบ และสองรอบแรกจะแบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคใต้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ, และภาคกลาง (ภาคตะวันออกถูกรวมอยู่กับภาคกลางครับ)

มาดูรายละเอียดการแข่งขันแต่ละรอบกัน:

รอบแรก ออดิชั่น – แน่นอนว่า Audition ไม่ใช่เกมเต้น (ใครเข้าใจมุกนี้คือเริ่มแก่แล้วนะครับ) แต่เป็นรอบการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่มีฝีมือเพื่อเข้าไปแข่งขันในรอบต่อไปครับ โดยเราสามารถเลือกแข่งได้ทั้งแบบ Online (แข่งจากบนเว็บไซต์ได้เลย) หรือแบบ Onground (แข่งที่สถานที่แข่งซึ่งทาง TechJam เตรียมไว้สำหรับแต่ละภาค) ยกเว้นแต่ Data Squad ที่มีแต่ Audition แบบ Online เท่านั้นครับ

รอบสอง ชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค – พอจบรอบแรก ก็จะมีการประกาศผลทีมที่ได้รับคัดเลือกไปแข่งในระดับภูมิภาค โดยจัดแข่งที่สถานที่ต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค รอบนี้มีเงินรางวัลถึง 30,000 บาทสำหรับทีมที่ชนะเลิศรออยู่ครับ แถมด้วยสิทธิ์ไปแข่งในรอบต่อไป ซึ่งเป็นรอบตัดสินระดับประเทศ

รอบสุดท้าย ชิงชนะเลิศระดับประเทศ – เค้าจะคัดเลือก 20 ทีมจากแต่ละสาขามาแข่งในรอบสุดท้าย โดยแต่ละสาขาจะมี 4 ทีมที่ชนะเลิศในแต่ละภาค + 16 ทีมที่ได้คะแนนจากรอบที่แล้วสูงสุด รอบนี้มีเงินรางวัลถึง 100,000 บาท พร้อมด้วยแพ็กเกจเปิดประสบการณ์ ณ Silicon Valley รอเราอยู่

นอกจากนั้นทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 และ 3 เค้าก็มีรางวัลเตรียมไว้ให้เช่นกันครับ (แต่ไม่มีตั๋วไป Silicon Valley นะฮะ) สามารถดูรายละเอียดกำหนดการณ์และรางวัลแบบเต็ม ๆ ได้ที่ techjam.tech เลยครับ

วิธีการสมัครเข้าแข่งขัน TechJam

TechJam 2018 งานแข่งขันเพื่อหาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ Data Science, Coding, Design ในไทย + แถมเทคนิคเตรียมตัวแข่ง 3
สมัครแข่งขันได้จากหน้าเว็บไซต์ techjam.tech

สำหรับท่านที่สนใจสมัครกันแล้ว สามารถสมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. ถึง 10 ส.ค. นี้ครับ ขั้นตอนในการสมัครแบบออนไลน์ก็ง่าย ๆ เลยดังนี้

  1. เข้าเว็บไซต์ techjam.tech กดปุ่ม Register แล้วกรอกอีเมลและพาสเวิร์ด
  2. ระบบจะส่งอีเมลยืนยันไปให้ตามอีเมลที่เรากรอกไว้ เข้าไปกดยืนยันอีเมล แล้วเข้าสู่ระบบ Login บนเว็บ TechJam ได้เลย
  3. กรอกข้อมูลเกี่ยวกับทีม, เลือกได้ว่าจะแข่งรอบ Audition แบบ Onground หรือ Online, และเลือกภูมิภาคที่ต้องการแข่งขัน (1 ทีมสามารถเลือกได้แค่ 1 ภูมิภาคครับ)
  4. กดปุ่ม Add Member เพื่อเพิ่มรายละเอียดของลูกทีม ถ้ามีคนเดียวก็กรอกคนเดียวครับ
TechJam 2018 งานแข่งขันเพื่อหาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ Data Science, Coding, Design ในไทย + แถมเทคนิคเตรียมตัวแข่ง 4
กรอกข้อมูลทีม และสมาชิกในทีม ได้จากบนเว็บไซต์เลยครับ (ขออนุญาตเซ็นเซอร์หน้าแอดเอง เพราะอันนี้เป็นข้อมูลตัวอย่างเท่านั้นนะครับ)

สำหรับคนที่สมัครแข่งรอบ Online ไม่ทันก็ไม่เป็นไรครับ เราสามารถสมัครรอบ Onground Audition ได้โดยไปที่สถานที่สำหรับแต่ละภาคที่เค้ากำหนดไว้ ตามวัน-เวลาที่เค้าแข่งเลยครับผม สามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ techjam.tech ครับ

Channel รับข่าวสารเกี่ยวกับ TechJam Thailand 2018

สำหรับผู้เข้าแข่งขันทุกท่าน หรือสื่อที่สนใจ สามารถติดตามการอัพเดทต่าง ๆ ได้จากหลากหลายช่องทางดังนี้ครับผม:

เทคนิคเตรียมตัวแข่ง สำหรับ Data Squad

TechJam 2018 งานแข่งขันเพื่อหาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ Data Science, Coding, Design ในไทย + แถมเทคนิคเตรียมตัวแข่ง 5
เรียนรู้จากโค้ดของคนเก่ง ๆ เช่น อันนี้เป็นโค้ดจาก Kaggle Kernels

ออกตัวไว้ก่อนว่าแอดมินไม่ได้เป็นคนจัดการแข่งขันนะครับ เพราะฉะนั้นคำแนะนำอันนี้มาจากข้อมูลที่ได้รับมาในปีนี้บนเว็บไซต์ หวังว่าจะมีประโยชน์กับท่านที่สนใจร่วมแข่งทุกท่านครับ

สำหรับโจทย์ปัญหาของ Data Squad จะเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนา Prediction Model

เพราะฉะนั้นขอแนะนำให้เลือกศึกษา Python หรือ R ก็ได้ เพราะทั้ง 2 ภาษานี้มี Library ต่าง ๆ รองรับในการทำวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาโมเดลครบอยู่แล้วครับ (เลือกแค่ภาษาใดภาษาหนึ่งก็พอครับ)

คำแนะนำสำหรับสาย Python

ถ้าใครสนใจใช้ Python สามารถ ศึกษาคอร์ส Python for Data Science เบื้องต้นของ Udacity ที่เคยแนะนำกันไปได้ครับ และศึกษาในเรื่องของ การทำความสะอาดข้อมูลด้วย Pandas, การทำ Feature Engineering หรือการเลือกฟีเจอร์ ซึ่งสำคัญมากเวลาทำโมเดล, และการสร้างโมเดลทำนายผลด้วย Library Scikit-learn ครับ ซึ่ง Library เหล่านี้เป็นของที่แอดมินใช้ตอนแข่งปีที่แล้วนั่นเอง (ยกเว้น FeatureTools)

คำแนะนำสำหรับสาย R

ข้อเสียเล็กน้อยของ Python คือ การ Setup ระบบครั้งแรกอาจจะงงเล็กน้อยครับ ถ้าใช้ R จะสะดวกกว่าตรงที่ติดตั้งโปรแกรม RStudio แล้วเริ่มแก้โจทย์ปัญหาได้เลย

ส่วนถ้าใครชอบแบบเริ่มต้นง่าย ๆ แอดก็แนะนำให้ใช้ R ครับ โดยเริ่มศึกษาได้จาก 6 แหล่งเรียนพื้นฐาน R ฟรี (ภาษาไทย และอังกฤษ) แล้วศึกษาการจัดการข้อมูลด้วย Dplyr, การทำความสะอาดข้อมูลด้วย Tidyr, ไปจนถึงการสร้างโมเดลด้วย Caret

แหล่งศึกษาเพิ่มเติม

ส่วนถ้าใครอยากฝึกฝีมือในการแก้โจทย์ด้าน Data Science ก่อนแข่ง TechJam แอดแนะนำให้ไปลองแก้โจทย์ใน Kaggle ครับ ในนั้นมีตัวอย่างโค้ดจากคนเก่ง ๆ ทั่วโลกมาให้เราศึกษาด้วยครับผม

ไปสมัคร TechJam กันเลย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับทุกท่านนะครับ ถ้าพร้อมแล้วอย่าลืมไปสมัครแข่งกันที่เว็บไซต์ Techjam.tech ครับผม แค่ได้ไปลองแก้โจทย์รอบ Audition แอดคิดว่าก็คุ้มมากแล้วครับ

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save