ระยะหลังมานี้ กระแสการเรียนต่อด้าน Data หรือคนที่ทำงานอยู่แล้วอยากเปลี่ยนสายงาน หลายคนมองหาโอกาสไปทำงานต่อที่ต่างประเทศแต่ก็ยังลังเลว่าควรจะไปดีไหมอย่างไร บ้างก็ด้วยความมีภาระส่วนตัว บ้างก็ด้วยความกลัวสารพัด เช่น ภาษาการสื่อสาร ข้อจำกัดด้านอายุ เพศ เป็นต้น
เราจึงอยากพาเพื่อน ๆ ไปคุยกับพี่แทน ผู้ที่จบปริญญาตรีและโทที่เมืองไทย ได้ทำงานที่ไทยหลายปี ก่อนที่จะบินไปเรียนต่อ ป.โท ด้าน Data Science ที่ออสเตรเลีย และปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Hello Fresh ซิดนีย์ เรามาทำความรู้จักและฟังเรื่องราวของพี่แทนไปด้วยกันเลยค่ะ
บทสัมภาษณ์พี่แทน – ธนศักดิ์ หริสมบัติ Software Engineer ที่ Hello Fresh ออสเตรเลีย
ทำความรู้จักกับพี่แทน Software Engineer ที่ออสเตรเลีย
แอดบี: สวัสดีค่ะพี่แทน ช่วยแนะนำตัวให้พวกเราได้รู้จักมากขึ้นหน่อยค่ะ
พี่แทน: สวัสดีครับ แทน – ธนศักดิ์ หริสมบัติ ทำงานตำแหน่ง Software Engineer ที่ HelloFresh, ตอนนี้อยู่ที่ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
แอดบี: ช่วยเกริ่นให้เพื่อน ๆ เข้าใจธุรกิจของบริษัท Hellofresh ที่พี่แทนทำอยู่หน่อยค่ะ
พี่แทน: “Hello Fresh” จะเป็นบริษัทที่ให้บริการอาหารประเภทสินค้าแนววัตถุดิบในการทำอาหาร ด้วยการส่งถึงบ้าน ระบบของเขาคือการสมัครสมาชิก ลูกค้าจะเลือกเมนูไว้ล่วงหน้าและเมื่อถึงเวลาที่กำหนดเขาก็จะมาส่งวัตถุดิบให้หน้าบ้าน แต่เราต้องเป็นคนลงมือปรุงอาหารด้วยตนเอง ข้อดีคือลดเวลาที่เราจะต้องไปเดินเลือกซื้อที่ตลาดหรือซูเปอร์มาเก็ตด้วยตนเองกับช่วยลดปริมาณของที่ไม่จำเป็น เพราะบางอย่างใช้แค่นิดเดียว ถ้าไปซื้อเองก็ต้องซื้อจำนวนมาก เหลือทิ้ง ใช้ไม่หมด เป็นต้น
แอดบี: ก่อนที่พี่แทนจะมาเรียนและได้ทำงานที่ออสเตรเลีย พี่แทนเรียนจบด้านไหนมาจากที่ไทยคะ
พี่แทน: ก่อนมาที่ออสเตรเลีย พี่จบปริญญาตรี Computer Science ที่ Bangkok University และปริญญาโทด้าน Software Engineer ที่ KMUTT เรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ไทยเป็น Software Developer + Software Engineer ประมาณ 6 ปีแล้วก็มาที่ออสเตรเลีย
การมาเรียนต่อที่ออสเตรเลีย
แอดบี: พี่แทนเองก็เรียนจบโทและได้ทำงานที่ไทยอยู่พักใหญ่ มีเหตุผลพิเศษที่ทำให้อยากมาเรียนต่อที่ออสเตรเลียไหมคะ?
พี่แทน: พี่ตัดสินใจมาเรียนภาษาเพิ่มที่ออสเตรเลียช่วงปี 2016 เหตุผลเพราะอยากอัปสกิลด้านภาษา จริงอยู่ที่ทำงานด้านนี้ในไทยอาจจะไม่ได้ต้องการสกิลภาษาที่เก่งกาจแต่ถ้าเรามีภาษาที่ดี เราก็จะมีโอกาสไปทำงานในบริษัทแบบข้ามชาติหรือองค์กรใหญ่ ๆ ได้มากขึ้น
แอดบี: เลยตัดสินใจมาเรียนภาษาก่อนที่ออสเตรเลีย แล้วพี่เรียนต่อด้านไหนที่มหาวิทยาลัยอะไรคะ?
พี่แทน: ตอนนั้นพี่ก็ลังเลระหว่างแคนาดาหรือออสเตรเลียดี แต่สุดท้ายก็เลือกออสเตรเลียเพราะคิดว่าอยู่ไม่ไกลจากไทยมากนัก และสามารถทำงานได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายได้ และเมลเบิร์น (เมืองที่พี่แทนมาเรียน) ก็ติดอันดับเมืองน่าอยู่ของโลกด้วย หลังจากเรียนภาษาไปได้ 8 เดือนแล้วก็เกิดติดใจ อยากจะอยู่ต่อ เลยตัดสินใจเรียนปริญญาโทด้าน Data Science ที่ Monash University
แอดบี: ช่วงระหว่างเรียนต่อโทที่ออสเตรเลีย พี่แทนพบกับความท้าทายด้านไหนบ้างคะ?
พี่แทน: ต้องบอกว่าถึงแม้ Background ของพี่จะไม่เชิงว่าข้ามสายมากนัก เพราะพี่เรียนมาด้าน Computer Science & Software Engineer แต่ก็มีความท้าทาย (ความลำบาก) ในการเรียนบ้างเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องของภาษา สมัยเรียนที่ไทยก็เรียนด้วยภาษาไทย แต่ที่ออสเตรเลียต้องเรียนด้วยภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา อีกเรื่องก็คือ Data Science จะต้องเรียนเลขหนักมาก ๆ ซึ่งตัวพี่เองไม่ได้จับด้านนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ก็ยากอยู่เหมือนกัน
คือ Data Science มันจะรวมศาสตร์ของ IT กับสถิติเข้าด้วยกัน อย่างถ้าคนที่มี Background ด้าน IT จะข้ามสายมาเรียน ก็คล้าย ๆ กับได้เปรียบมาแล้วครึ่งหนึ่ง อาจจะไปหนักด้านสถิติ เป็นต้น
แอดบี: มีเรื่องที่ท้าทายแล้วก็ต้องมีประสบการณ์ที่ประทับใจตอนเรียนบ้าง?
พี่แทน: ถ้าเรื่องที่ประทับใจคิดว่าเป็นพวก Service ต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือระหว่างเรียน เช่น LMS (Learning Management System), Discussion Boards, มีวิชาให้เลือกเรียนหลากหลาย, พื้นที่นั่งทำงานเฉพาะนักศึกษาปริญญาโท 24hr. และกิจกรรมนอกเหนือจากวิชาเรียน เช่น ชมรมเกม, ชมรมกีฬา หรือ Counselling
การฝึกงาน และหางานที่ออสเตรเลีย
แอดบี: ช่วงใกล้จบพี่แทนมีได้ฝึกงานไหมคะ แล้วตอนหางานใช้เวลานานแค่ไหนคะ
พี่แทน: ของพี่ไม่ได้มีฝึกงาน พอเรียนป.โทจบประมาณกลางปี 2021 พี่ก็ได้งานประมาณเดือนมกราคม 2022 ก็ร่อนจดหมายสมัครไปร้อยกว่าที่นะกว่าจะได้งานที่แรก
แอดบี: มีเทคนิคในการสมัครงานหรือหางานที่สามารถแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้ไหมคะ
พี่แทน: วิธีที่พี่ใช้คือ อัปเดตโปรไฟล์ใน LinkedIn, ศึกษาสกิลที่เราขาดเพิ่มเติม เพราะบางสกิลก็ไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัย เราก็ต้องหาเพิ่ม, ฝึกเขียนโค้ดจากเว็บไซด์, สร้าง Excel Sheet เพื่อติดตามสถานะของใบสมัคร, เตรียมคำถามและคำตอบไว้เพื่อให้เราเข้าใจในไอเดียคร่าวๆ
แอดบี: เทคนิคสร้าง Excel Sheet เพื่อติดตามสถานะของใบสมัครก็น่าสนใจนะคะ
พี่แทน: ที่พี่ใช้ Excel Sheet มาช่วยในการติดตามสถานะของใบสมัครงาน ก็เนื่องจากว่าตอนที่เราร่อนใบสมัคร เราสมัครไปเยอะมาก ๆ (เป็นร้อยที่อะไรแบบนี้) และอย่างแต่ละที่ที่สมัคร เราก็จะมีการปรับการเขียน Cover Letter ให้สอดคล้องกับ Job Description ของเค้า เราก็จะต้องใช้เวลาใส่ใจในตรงนี้
พอหลังจากส่งใบสมัครแล้ว ใน Excel Sheet ของเราก็จะมี URL ไปที่ Job Description ของบริษัทนั้น ๆ หากได้รับโทรศัพท์จาก HR ของที่นั้น ๆ ติดต่อเรื่องงานกลับมา เราก็จะสามารถเปิด Excel ดูรายละเอียดแล้วสามารถคุย ตอบคำถามได้ตรงจุดและสะดวกกว่า
แอดบี: พอได้รับการติดต่อมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสัมภาษณ์งาน มีอะไรแนะนำเพิ่มเติมในการเตรียมตัวไหมคะ?
พี่แทน: ตอนสัมภาษณ์งาน ก็มี List คำถามที่คิดว่าเค้าจะถามเรา และเราก็ต้องซ้อม ก็ต้องเตรียมตัวตอบคำถามในภาษาอังกฤษ หรือจะใช้เทคนิค STAR ก็ได้ (Situation, Task, Action & Result) อย่างตอนตอบคำถามก็อธิบาย เช่น ในสถานการณ์แบบไหน เค้าต้องการอะไร แล้วเราทำอะไรไป สุดท้ายก็ผลลัพธ์ออกมายังไง ของพี่ตอนสัมภาษณ์ฯ มีทั้งหมด 4 รอบ
สกิลและ Culture งาน Software Engineer ที่ออสเตรเลีย
แอดบี: คิดว่าอาชีพที่ทำอยู่ – Software Engineer ควรต้องมีสกิลอะไรที่จำเป็นบ้างคะ
พี่แทน: สกิลที่ควรมีกับตำแหน่ง Software Engineer (SE) ก็น่าจะเป็น “การที่ไม่หยุดเรียนรู้” เพราะงานด้าน IT มีเทคโนโลยีใหม่ออกมาทุกวัน และมีอีกสกิลที่สำคัญมากก็คือการพรีเซนต์ไอเดียของเราให้ผู้ฟังเข้าใจ
แอดบี: อยากทราบ Culture ของการทำงานที่ออสเตรเลีย ที่ออฟฟิศหรือทีมเป็นยังไง มีความท้าทายในการทำงานร่วมกันบ้างไหมคะ
พี่แทน: ที่ออฟฟิศไม่ค่อยเคร่ง เรื่องเวลาเข้างาน ขอแค่ให้งานเสร็จ แล้วก็มีจัดกิจกรรมให้ทีมร่วมทำค่อนข้างบ่อย ที่ออสเตรเลียเป็น Multi-nationalities and Cultures ดังนั้นจะมีความท้าทายทางการสื่อสาร เพราะว่า members มีสำเนียงที่หลากหลาย
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างออสเตรเลียกับไทย อย่างโครงสร้างของทีมไม่เหมือนกัน แต่นี่ก็อาจจะแล้วแต่องค์กร ที่ไทยจะมีเรื่องอาวุโส ลำดับขั้น ค่อนข้างจะพิธีรีตรองมากกว่า แต่ที่ออสเตรเลียจะชิล ๆ ต่อให้เป็นหัวหน้าเราก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ส่วนการเข้างานค่อนข้าง flexible กว่า อันนี้หมายถึงองค์กรที่พี่ทำงานอยู่ คือแล้วแต่เราจัดการ ขอให้งานเราเสร็จก็พอ
ส่วนเรื่องการแต่งตัวก็ง่าย ๆ ใส่กางเกงยีนส์ หรือกางเกงขาสั้นก็ใส่ได้ ส่วนที่ไทยก็อาจจะเป็นเสื้อเชิ้ตกางเกงสแล็คแบบทางการกว่า
แล้วก็มีกลุ่มเล่นกีฬา ก็จะใช้ Slack ทำเป็นกลุ่มหาเพื่อนเล่นกีฬาต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น วิ่ง ปิงปอง บาส บอร์ดเกมส์ และทุกวันศุกร์ที่ออฟฟิศก็มีตู้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ไปหยิบกินฟรีได้เลย
แอดบี: มีคนไทยหรือคนเอเชียในที่ทำงานบ้างไหม สัดส่วนคร่าว ๆ สักเท่าไหร่คะ
พี่แทน: เท่าที่เจอไม่มีคนไทย สัดส่วนคนทำงานแผนก IT เป็นเอเชียน่าจะเกิน 70% อย่างที่พี่ทำนี่แผนก IT เป็นคนอินเดียซะเยอะ น่าจะแล้วแต่แผนกด้วย
เราก็จะมีได้เจอแผนกอื่นด้วยทุกเดือนการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำอาหารทานร่วมกันจากหลาย ๆ แผนก ทำให้เราได้เจอคนอื่นด้วย ถึงแม้ตึกเราจะมีแต่ชาว IT ก็เถอะ
แอดบี: ปัจจุบันการทำงาน ต้องเข้าออฟฟิศตลอดไหม หรือ Work From Home ได้ และดูแลจัดการในเรื่องของ Work-life Balance อย่างไร
พี่แทน: ปัจจุบัน WFH เป็นหลัก จะมี 1-2 วันต่อวีคที่ทีมนัดกันไปออฟฟิศ ส่วนวิธีจัดการ Work-life Balance คือพยายามทำงานในเวลาให้เต็มที่ที่สุด และไม่ทำงานนอกเวลา เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้เรา burn out ในอนาคต
การ Work-Life Balance ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้จะบอกว่าเราชอบทำงานด้านนี้ก็ตาม อย่างพี่ก็จะพยายามแบ่งเวลาให้ดี นอกเวลางานแล้วก็จะพยายามผ่อนคลายเพื่อให้มีแรงสู้ต่อไป หรือด้านการเรียนรู้ ต้องคอยพยายามอัปเดตเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งก็ต้องใส่ใจเรื่องนี้ด้วย
แอดบี: สุดท้ายอยากให้พี่แทนให้คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากทำสายอาชีพนี้ในต่างประเทศ
พี่แทน: ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็ลองประเมินว่าเราพร้อมไหม เช่น การเงิน ภาระหน้าที่ ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าใครมีต้นทุนด้านนี้ก็อาจจะได้เปรียบกว่า ถ้าตัดสินใจแล้วสามารถไปปรึกษา Migration Agent เพื่อที่จะได้แนวทางเกี่ยวกับเรื่องวีซ่าและข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะเคสแต่ละคนไม่เหมือนกัน
สายด้านนี้ของที่ออสเตรเลียอายุ เพศ ศาสนา สถานะครอบครัว อะไรทำนองนี้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรในการหางานซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ยังเปิดกว้างให้กับคนที่สนใจอยู่
แอดบี: ต้องขอบคุณพี่แทนมาก ๆ เลยค่ะที่มาแบ่งปันประสบการณ์ทั้งเรื่องการเรียนต่อและหางานที่ต่างประเทศ เชื่อว่าคนอ่านจะได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ค่ะ
พี่แทน: ยินดีมากครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อน ๆ นะครับ
คุยกันท้ายบทความ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานมาได้สักพักแล้วอยากเรียนต่อหรือหาโอกาสจะไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ก็ยังลังเลว่าจะช้าไปไหม จะมีโอกาสสู้กับคนอื่นได้ไหม พี่แทนและเพื่อน ๆ คนไทยอีกหลายคนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าขอให้เราตั้งใจมุ่งมั่นและพัฒนาตัวเองให้พร้อม โอกาสจะยังรอให้เราไปไขว่คว้ามันเสมอ ยิ่งสายงานด้านนี้ในต่างประเทศอย่างออสเตรเลีย ปัจจัยเช่นอายุหรือเพศไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย หากเพื่อน ๆ ชอบบทความนี้ ก็สามารถแชร์บอกต่อให้คนอื่นๆ ได้มาอ่านบทความนี้ด้วยกันได้นะคะ
ส่วนเพื่อน ๆ ที่กำลังคิดว่าจะเรียนต่อปริญญาโทดีไหม สามารถไปอ่านบทความเกี่ยวกับปริญญาโทสาย Data Science (ป. โท Data Science สาขาเดียวกับที่พี่แทนเรียน) เพื่อประกอบการพิจารณาได้ค่ะ
และถ้าชอบเนื้อหาแนวนี้ อยากติดตามบทความดี ๆ ด้าน Data หรือจะเป็นวีดิโอสนุก ๆ ดูชิล ๆ แถมได้ความรู้ติดตามกันได้ที่ Facebook Page: DataTH และ Youtube Channel: Data Science ชิลชิล ได้เลยค่ะ