Work-Life (ไม่) Balance ของคนทำงาน Data

work life balance data

ในบทความนี้ เราจะมาคุยกับ 5 คนไทยในสายงาน  Data บทความที่ตั้งใจทำมาเพื่อ Work ที่ไม่ไร้ balance สำหรับคนสายงาน Data

Special thanks: บทความนี้ต้องขอขอบคุณเพื่อนในแวดวง data ที่มาแบ่งปันข้อมูลและให้สัมภาษณ์

  • คุณเกิ้ล ผู้เคยทำหลากหลายบทบาทเกี่ยวกับ Data ไม่ว่าจะเป็น Data Consultant, Business Intelligence Analyst, Data Analyst 
  • คุณอ้อ – บุญจิรา อังสุมาลี อดีต Data Engineer แพลตฟอร์มช่วยเหลือการเช่าบ้านแบบครบวงจร Startup ไทยในอเมริกา
  • คุณมิลส์ – บุรัสกร สบายยิ่ง Data Engineer แห่งร้านสะดวกซื้อชื่อดังแห่งหนึ่ง
  • คุณบูม – วรุฒ เสือสกุล Data Consultant บริษัทแห่งหนึ่ง
  • คุณเชน – ณัฐธัญ Data Engineer บริษัทจัดจำหน่ายและ Distribute สินค้า Luxury สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง
work life balance data engineer ds de happy life happy work future

สำหรับบทความนี้ แอดอยากจะชวนมาคุยกันเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาการในสายอาชีพโดยตรง แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนให้ความใส่ใจมาก บางคนเลือกให้เรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ ในการเลือกที่จะรับงาน ย้าย หรือออกจากงานนั้น ๆ เลยทีเดียว 

ใช่แล้วค่ะ เรากำลังพูดถึงคุณภาพชีวิตที่เรียกว่า Work-Life Balance (WLB) การที่สามารถคงความสมดุลของการทำงาน (และทำเงินด้วย) และการใช้ชีวิตได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

happy face wlb happy life

ส่วนตัวแล้ว แอดให้น้ำหนักกับเรื่องความสุขแบบปกติของชีวิตค่อนข้างมาก เป็นคนที่พยายามทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นกระทบกับการใช้ชีวิตของตนเองอย่างไรบ้าง เพราะเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีวงจรบนโลกที่สั้นควรเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและไม่ใช่เกิดมาเพื่อ ทำงาน แก่ และตายไป

นอกจากนี้ WLB ของอาชีพสาย Data ก็ยังเป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่ถูกสอบถามเข้ามาเรื่อย ๆ บางคนมาจากสายงานอื่น เบื่อการต้องรักษาความสัมพันธ์จ๋า ๆ จึงมองมองหางานที่ Work from Home ได้ หรือบางคนโอเคนะกับการต้องสื่อสารแต่ไม่อยากนั่งประจำที่ออฟฟิศ 

บางคนอยากก้าวขาเข้ามาสัมผัส แต่ก็ได้ยินมาว่าสาย data มันงานรูที๊นนนนรูทีน  ซึ่งก็คงจะแล้วแต่คนมาก ๆ พอดีได้จังหวะ – ฤกษ์งามยามดี แอดจึงอยากจะนำเอาข้อมูลที่หาได้และประสบการณ์ตรงจากคนในวงการมาแบ่งปันกัน

นอกจากนี้ แอดยังอยากจะชวนเพื่อน ๆ สาย Data (และ/ หรือสายอื่น ๆ ด้วยก็ได้ถ้าได้แวะมาอ่าน) คิดและทบทวนชีวิตของเพื่อน ๆ ในภาพรวม โดยอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองหรือทบทวนสักหน่อย

ว่าตอนนี้เรารู้สึกจัดการกับชีวิตและการงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน มีปัญหาอะไรในการทำงานบ้างไหม และถ้ามี เราควรหาวิธีอะไรมาจัดการกับปัญหาเหล่านั้นเพื่อให้ชีวิตมันดำเนินไปได้อย่างปกติเหมือนเดิม

work life balance programmer

นิยามของ work-life balance

ย้อนกลับไปในอดีต Robert Owen เป็นคนที่ให้นิยามสูตรการใช้ชีวิตอย่างสมดุลไว้ว่า “Eight hours labor, eight hours recreation, eight hours rest.” หรือ “8 ชั่วโมงทำงาน, 8 ชั่วโมงผ่อนคลาย-สันทนาการ และ 8 ชั่วโมงนอนหลับพักผ่อน”  

และนั่นก็เป็นหนึ่งในนิยามเกี่ยวกับ work-life balance ของ Robert Owen เจ้าของฉายา “บิดาแห่งการปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ” (the father of British Socialism)ผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 

qoute work life balance definition Robert Owen eight hours

คราวนี้ เรามาลองฟังนิยามหรือความหมายของ work-life balance จากเพื่อน ๆ ในแวดวง Data ที่แอดได้มีโอกาสไปพูดคุยหรือสัมภาษณ์มาบ้างว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับคำ ๆ นี้ 

คุณมิลส์ Data Engineer แห่งร้านสะดวกซื้อชื่อดังแห่งหนึ่งบอกแอดว่า Work-Life Balance ในความรู้สึกของเธอคือ

การที่เราสามารถโฟกัสเรื่องงานไปพร้อม ๆ กับหาวิธีผ่อนคลายตัวเองตาม Lifestyle ชีวิตตัวเองได้ และก็ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับเวลาที่งานที่ยืดหยุ่นที่เราสามารถจัดการได้ด้วย สามารถวางแผนเข้างานไวหน่อยหรือออกเร็วกว่าปกติ แต่ก็ยังเกลี่ยชั่วโมงทำงานให้ครบได้

digital nomad a work life balance

คุณบูม Data Consultant ของบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวว่า work-life balance สำหรับเขา คือ

การรักษาสมดุลย์ระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน โดยที่ไม่จำเป็นว่าเราต้องทำงาน 8 ชั่วโมงทุกวัน บางวันอาจจะมากกว่าเวลาที่ระบุไว้เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนของงานก็ได้แล้วไปชดเชยเป็นสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้รางวัลตัวเอง

ด้านคุณเกิ้ล ผู้เคยทำหลากหลายหน้าที่เกี่ยวกับ Data ไม่ว่าจะเป็น Data Consultant, Business Intelligence Analyst, Data Analyst อธิบายว่า

“หากดูแค่ความหมาย Work-life balance ก็คือ การบริหารชีวิตในงานกับนอกงานได้สมดุลโดยที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งมันไม่เบียดเบียนอีกฝั่งไปทำให้ชีวิตเสียสมดุล แต่แท้จริงในทางปฏิบัติอาจจะทำได้ยากโดยเฉพาะหากเราทำในสายงานที่ไม่ได้มีแพทเทิร์นตายตัวหรือบริษัทที่มีโครงสร้างใหญ่”

“แต่ถึงแม้จะทำงานแบบที่เวลาไม่ตายตัว หากสามารถส่งผลงานได้ตามเวลาที่กำหนดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่โอเคและพอใจแล้ว”

adventure work life balance travel

การทำงานในสายงานด้าน Data

แอดเชื่อว่าคนที่เข้ามาอ่าน ส่วนหนึ่งนั้นเป็นคนที่กำลังคิดจะย้ายสายงานและกำลังหาข้อมูลว่า

“หากเรามาทำงานด้าน Data แล้ว ชีวิตเราจะโอเคขึ้นไหม?“

แน่ล่ะว่างานในสายนี้ค่อนข้าง flexible บางคนสามารถทำงานแบบ remote หรือทำงานแบบ hybrid ไม่ต้องเข้าออฟฟิศตอกบัตรเป็นเวลา แต่ว่างานสาย tech เองก็มีการเล่าขานว่าต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมงหรือ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือเรื่องปกติของงานสายนี้ แนวคิดนี้จริงหรือไม่อย่างไร?

หากมองจากภาพรวม เนื่องจากพวกเราคือ Global citizen (หรอ?) จะพบว่าสายงานนี้มีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องการจัดสรรเวลาในชีวิต

data processing work

Glassdoor” – เว็บไซต์สัญชาติอเมริกันที่มีพนักงานทั้งอดีตและปัจจุบันมารีวิวบริษัทแบบไม่เปิดเผยตัวตนก็ได้ยกให้งานสาย Data อาทิ data scientist เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกจัดให้อยู่อันดับต้น ๆ  ในเรื่องความลงตัวของ work-life balance เลยทีเดียว 

ถึงกระนั้น หากตีวงแคบลงแค่ที่ประเทศไทย ข้อมูลที่น่าสนใจจาก WTW ที่อ้างถึงสถิติการจ้างงานในไทยปีล่าสุด (2023)  ระบุว่าแม้สายดิจิทัลและเทคโนโลยีจะเป็นที่ต้องการสูง แต่ก็มีอัตราการลาออกของพนักงานสูงเช่นเดียวกัน

โดยอัตราการลาออกของพนักงาน หรือ Turn over rate คำนวณได้จากสูตร = (จำนวนพนักงานที่ลาออก / จำนวนพนักงานโดยเฉลี่ย) x 100

ตัวอย่างเช่นอาชีพ data scientist ที่มาแรงและได้ค่าตอบแทนสูงสุดในยุคนี้กลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีอัตราลาออกติด Top 5 ด้วยอัตราที่มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปถึง 9%

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการจ้างงานตำแหน่งด้านดิจิทัลมากที่สุด ได้แก่ เทคโนโลยี สื่อ และเกม, สินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มประกันชีวิต

start up work life balance

ภาพรวมในการทำงาน ความท้าทายและปัจจัยที่มีผลต่อ  work-life balance ของสายงาน data และตัวอย่างจากประสบการณ์จริง

เราลองไปดูกันว่าในภาพรวมแล้ว คนที่ทำงานด้านข้อมูลหรือสาย Data ส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาหรือปัจจัยหลักอะไรที่เข้ามากระทบกับการบาลานซ์ซีวิตการงานบ้าง

InterviewQuery.com ได้ไปทำการสำรวจและสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง WLB ของชาว Data scientist (​DS)  ที่ทำงานในกลุ่มบริษัท Tech ใหญ่ในอเมริกา หรือกลุ่ม FAANG / MANGA (ตอนนี้บริษัท F ตัวแรก หรือ Facebook ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta แล้ว) และสรุปภาพรวมและปัจจัยฯ มาได้ดังนี้

report analysis job interview data
  • ขึ้นกับทีมและบริษัท: ชีวิตการทำงานในแต่ละบริษัทก็จะแตกต่างกันไปตาม nature และ culture แต่อีกเรื่องที่ต้องไม่มองข้ามก็คือ ถึงแม้จะอยู่บริษัทเดียวกันแต่ถ้าทำงานคนละทีมก็อาจจะมี work-life balance ที่ไม่เหมือนกันเลยก็ได้  อย่างพวกบริษัทด้าน Tech ที่กำลังเติบโตสูงก็มักจะมีแนวโน้มที่พนักงานจะเครียดและต้องทำงานหนัก ใช้เวลาในการทำงานค่อนข้างมาก 
  • ชีวิตจะไม่ balance เป็นครั้งคราวหรือช่วงที่ใกล้จะ deadline: ในภาพรวมชาว DS ก็จะบอกว่าพวกเขาแฮปปี้กับเรื่อง work-life balance แต่ก็จะมีบ้างตอนที่ project เร่ง ๆ หรือใกล้ปิดงานเป็นจังหวะที่ทุกคนต้องใส่เต็ม ก็จะต้องสละเวลาพักผ่อนหรือทำงานหนัก – นานมากกว่าปกติบ้าง (ซึ่งก็แลเป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้)
  • ให้ความสำคัญกับการ WFH: โดยเฉพาะสมัยนี้ ความอิสระจากการทำงานจากที่ไหนก็ได้นั้นเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้สามารถจัดการ work-life balance ได้ดีขึ้น และชาว DS ส่วนใหญ่ก็ยืนยันว่าถ้าพวกเขาสามารถเลือกที่จะ WFH ได้ตามต้องการก็จะทำให้เค้าสามารถจัดการกับชีวิตได้ง่ายขึ้น
finance analytics job work life

มาฟังตัวอย่างประสบการณ์จริงหรือความคิดเห็นจากคนที่อยู่ในแวดวงกัน 

คุณมิลส์ เล่าว่า อาชีพ Data Engineer นั้นตอบโจทย์เรื่อง Work-life balance ของเธอได้อย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นงาน remote ที่ทำจากที่ไหนก็ได้แล้ว ด้วย culture ของทีม ทำให้เธอสามารถที่จะเลือกที่จะ work from home ได้ จะมีการเข้าไปพบปะทีมบ้างเป็นครั้งคราว 

และหากไม่จำเป็น ในทีมจะไม่รบกวนกันหลังเวลา 18.00 น. (ที่ทุกคนควรจะพักผ่อนได้แล้ว) หัวหน้าทีมก็จะมีการสื่อสารกับทีมตลอดให้เข้าใจว่าไว้ขยันตอนที่จำเป็นจริง ๆ อย่างตอนแก้ production issue จะดีกว่า 

และเมื่อถึงเวลาจำเป็นที่ต้องทำงานล่วงเวลา แก้งานดึกดื่น ทางทีมก็จะอนุญาตให้มีการชดเชยวันหยุดให้  

sleeping work balance

เคสของคุณมิลส์นั้นก็จะค่อนข้างคล้ายคลึงกับที่คุณเชนและคุณอ้อได้ให้สัมภาษณ์ไว้ โดยคุณเชนเล่าว่า ถ้าองค์กรไหนที่ทำระบบไว้ support พนักงาน ช่วงไหนที่ต้องทำงานหนักหรือล่วงเวลาก็จะมีระบบที่ชดเชยให้ และนี่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้คนทำงานใจฟู 

ส่วนคุณอ้อเองก็บอกไว้เช่นกันว่าบริษัทที่เคยทำมานั้นมีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนทำงานนอกเวลาจนกลายเป็น “เรื่องปกติ” และหากช่วงไหนที่ต้องทำงานหนักหรือมีล่วงเวลาก็จะสามารถลาหรือขอพักได้ในวันถัดไป

มาดูประสบการณ์จากสาย data consultant บ้าง คุณเกิ้ล ผู้เคยทำหน้าที่เกี่ยวกับ Data ที่หลากหลายกล่าวว่า ถ้าพูดถึงตำแหน่ง Data Consultant แล้ว มันก็จะไม่มี work-life balance อะไรที่เหมือนกับในพจนานุกรมหรือที่คนส่วนใหญ่จินตนาการกัน

แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบความท้าทายและเจออะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลาทำให้คุณเกิ้ลสามารถปรับตัวเข้ากับสไตล์การทำงานของอาชีพได้ดี  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับบุญพาวาสนาส่งด้วยว่าเราจะไปอยู่บริษัทใดทีมไหนโปรเจ็คอะไร เป็นต้น

work hard play harder

อย่างไรก็ตาม บางทีปัจจัยหลากหลาย อาทิ ประสบการณ์ด้านการงานที่ผ่านมาหรือแม้แต่ mind set ก็ทำให้เรามองความท้าทายเรื่อง work-life balance ในอาชีพของเรานั้นต่างกันไป 

อย่างคุณบูมในฐานะ Data Consultant มองว่าการเป็นที่ปรึกษาของสาย data นั้น สามารถจัดการเรื่อง work-life balance ได้ดีกว่าการเป็นที่ปรึกษาของงานสายอื่นที่เคยผ่านมา 

เนื่องจากบริษัทให้ความยืดหยุ่นในการทำงานสูง จะ work from home ก็ได้ทำให้ได้ใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่เสียเวลาเดินทาง 

หรือถึงแม้บางครั้งต้องทำงานล่วงเวลาก็ไม่รู้สึกแย่มากแต่อย่างใดเพราะเข้าใจ nature ของหน้าที่ตนดีว่าต้องเร่งตอนใกล้ส่งงาน พอส่งแล้วก็เบาลง ได้พัก แล้วค่อยเร่งใหม่ มันก็จะหนักและเบาเป็นช่วง ๆ สลับกันไป

work life analytics balance

สรุปวิธีสร้าง Work-Life Balance และจัดการกับความเครียดสำหรับผู้ทำงานในสายงานข้อมูล

วิธีลดความเครียดและช่วยจัดการ work-life balance ให้ดีขึ้น (สายงานอาชีพอื่นก็เอาไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะ WLB สำคัญกับทุกคน) 

  • การบอกกล่าวความคาดหวังหรือการพูดออกไป: 

จากที่ได้อ่านข้อมูลและได้คุยกับคนทำงานในสาย Data หลายคน (ทั้งบริษัทไทยและบริษัทนอก) แอดพบว่า การบอกกล่าวหรือพูดออกไปนี่สำคัญมากไม่แพ้เรื่องอื่นทีเดียว 

บางคนคิดว่าการทำงานเก่งจะต้องอดทน และการอดทนคือการที่ไม่พูดออกไปเพราะกลัวเขาจะว่าเราไม่อดทน อยากบอกว่าการพูดออกไปแบบดี ๆ ไม่ใช่การบ่น และมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องขีดความอดทนแต่อย่างใด

lunch break data communication

คุณเกิ้ลเล่าประสบการณ์ทำงานหนักในช่วงทำงานปีแรก ๆ ไว้ว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่ตนเองควรทำคือการบอกหัวหน้าว่า “งานเยอะไป ต้องการคนช่วย” การที่แบกไว้หมดไม่ใช่เรื่องดี แถมเรายังจะ burn out (หมดไฟในการทำงาน) ได้ง่าย ๆ 

ในเมื่อทีมยังสามารถทำทัน deadline – ส่งงานได้ปกติ หัวหน้าจะไม่มีทางรู้เลยว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร จึงจำเป็นต้องบอกกล่าวออกไปให้ทราบสถานการณ์ เพื่อกระจายงานและลำดับความสำคัญให้ดี

work life data communication
  • การต้องเผชิญกับความคาดหวังในแบบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง (unrealistic expectations)

ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ของชาว Data อย่างชาว data ในบริษัทกลุ่ม FAANG ถือเป็นเรื่องปกติที่จะบอกกล่าวความคาดหวังของตนเองให้ทีมได้รับทราบอย่างชัดเจนและเข้าใจตรงกัน แต่ปัญหาเหล่านี้มันจะไปเกิดกับบริษัทที่อาจจะเพิ่งตั้งแผนกหรือทีมด้าน data มาได้ไม่นานนัก 

คุณเชนเน้นว่าระบบสนับสนุนการทำงานของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่าง คือ ถ้าพนักงานต้องทำงานล่วงเวลาเนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วน ระบบบริษัทที่ดีจะมีการชดเชยเรื่องเวลาให้ 

แต่หากบริษัทนั้นไม่มี เราเองก็จำเป็นต้องพูดออกไปกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหารือและหาทางชดเชยในเรื่องนี้ให้เหมาะสม

work life data work from home wfh
  • การหยุดพักหรือใช้วันลาอย่างเหมาะสม:

คุณมิลส์เล่าว่า “เวลาเครียด เราจะนอน” ถ้าเป็นความเครียดจากความกังวล ส่วนมากนอนแล้วจะดีขึ้น แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อยวาง หรือหากหาคนช่วยได้ก็ต้องรีบขอความช่วยเหลือทันที

อีกอย่างก็คือ ถ้าได้ WFH เธอก็จะมีเวลานอนกลางวันด้วย วันไหนที่ออกกำลังกายเช้า เธอก็จะนอนกลางวันซึ่งก็เหมือนเติมแบตให้กับพลังชีวิตและยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย

exercise data productivity balance
  • แบ่งเวลาดูแลสุขภาพ – ไปออกกำลังกาย:

หลายคนอาจจะมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลา ทำงานก็เหนื่อยจะแย่แล้ว แต่เท่าที่แอดได้คุยมา ชาว Data หลายคนเห็นข้อดีของการออกกำลังกาย อย่างคุณมิลส์ที่เล่าไว้ด้านบนว่าชอบออกกำลังกายตอนเช้า

หรืออย่างคุณอ้อที่แนะนำให้ทุกคนเริ่มแบ่งเวลาเพื่อการออกกำลังกาย “เพราะการออกกำลังกายจะช่วยทั้งเรื่องสุขภาพและลดความเครียดได้ คนไหนที่บอกไม่มีเวลา นั่นอาจจะเป็นเพราะการ Balance ชีวิตที่ไม่สมดุลก็เป็นได้”

“และการมี Balance ชีวิตที่ดีมันช่วยให้เรามี Productivity ดีขึ้นอย่างมาก เพราะร่างกายและจิตใจเราจะได้พักอย่างเต็มที่ สมองโล่ง พร้อมรับสิ่งใหม่”

work calendar tool
  • ใช้เครื่องมือหรือ technology มาช่วย: 

แต่ละคนก็จะมีเทคนิคหรือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยจัดการชีวิตแตกต่างกันไปอย่างคุณมิลส์ใช้ “Calendar” เป็น “ทางออกที่ดีที่สุด” ของเธอ โดยจะมี log ทั้งล่วงหน้าและย้อนหลัง และจะพยายาม Sync กับคนในทีมอย่างสม่ำเสมอ

ข้อดีอีกอย่างของ Calendar ที่คุณมิลส์ค้นเจอก็คือ เมื่อเราย้อนกลับไปดูว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง แม้เราจะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งเป้าไว้ แต่เราเห็นว่าเราได้ “ทำ” อะไรไป

work data social detox balance mobile app

สิ่งเหล่านี้แหละที่ช่วยลดความรู้สึกแย่จากโรค imposter syndrome (โรคที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจตัวเอง) ความนอยด์-กังวลต่าง ๆ แถมยังช่วยจัดการกับเรื่องส่วนเช่น นัดกินข้าว ไปเที่ยว ได้ด้วย 

เพื่อน ๆ ในสาย Data คนอื่นแทบทุกคนที่แอดได้สัมภาษณ์มา ไม่ว่าจะเป็น คุณบูม คุณเกิ้ลและคุณอ้อก็เป็นอีกกลุ่มที่นิยมใช้  “Calendar” มาช่วยบันทึกจดจำสิ่งที่ต้องทำ ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพสิ่งที่ต้องทำได้ชัดเจนและจัดการเวลาได้ดีขึ้น

บางคนก็พยายามทำ Social Detox ด้วยการลบแอปออก แต่คุณเกิ้ลพบว่ามันไม่ค่อยได้ผลสำหรับเธอเท่าไหร่นัก เพราะไม่มีแอปก็ยังเข้าทาง Browser ได้นี่นา เธอก็เลยต้องสร้างวินัยให้ตัวเองหรือหาอะไรอย่างอื่นทำไป เช่น อ่านหนังสือบ้างอะไรบ้าง 

ต้องบอกว่า คุณเกิ้ลเป็นชาว Data ที่มีการใช้แอปหลากหลายเพื่อมาช่วยในการจัดตารางเวลาในชีวิตให้เหมาะสม และนี่ก็คือรายชื่อแอปบางส่วนที่คุณเกิ้ลแนะนำ

สำหรับคนไหนที่พยายามเลี่ยงการใช้มือถือให้น้อยที่สุด คุณเกิ้ลก็แนะนำแอปที่ชื่อ “Forest” – ต้นไม้เราจะโตและงอกงามมากขึ้น หากเราทิ้งช่วงไม่แตะมือถือนาน ๆ 

forest app focus timer time controller appforwork work life balance app

แอป Pomodoro Timer – “Pomodoro” เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่ามะเขือเทศ ได้ชื่อนี้เนื่องจากนาฬิกาจับเวลาของคนคิดค้น – Francesco Cirillo มีลักษณะที่คล้ายกับผลมะเขือเทศนั่นเอง

Pomodoro เป็นเทคนิคบริหารเวลาแบบแบบโฟกัส 25 นาที พัก 5 นาที ถ้าใช้คอมก็เข้าเว็บนี้ (http://tomato-timer.com/) ได้ เวลามันเตือนทีหนึ่งนี่ทำให้คุณเกิ้ลถึงกับสะดุ้งได้

และแอปอื่น ๆ เช่น แอปที่ใช้ Eisenhower Matrix มาช่วยจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำก่อนหลัง หรือจะเป็นพวกแอป Time Boxing ที่ต้องเอางานใส่ในปฏิทินและกำหนด deadline ลงไป เป็นต้น 
นอกจากพวกแอปที่ว่ามาแล้ว แอดอยากบอกว่า DataOps ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประโยชน์และนำมาช่วยให้ชีวิตชาว Data มี work-life balance ที่ดีขึ้นได้ (อ่านเรื่องของ DataOps ได้ ที่นี่ https://blog.datath.com/dataops/ )

pomodoro app focus timer time controller appforwork work life balance app

สรุปและแนะนำเพิ่มเติม

สำหรับคนที่กำลังหางานหรือคิดเปลี่ยนงาน คุณอ้อแนะนำเสริมมาในเรื่อง WLB ว่า “เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกชีวิตของตัวเองได้ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะว่าเรา (หมายถึงคุณอ้อ) มีความสามารถเลยเลือกองค์กรที่มี WLB ได้ 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็หางานหลายเดือนเช่นเดียวกันกับคนอื่น และถูกปฏิเสธจากบริษัทอื่น ๆเ ช่นกัน ดังนั้นอาจจะต้องหาข้อมูลและพยายามหาตัวเลือกมากขึ้นครับ หากเราต้องการที่จะอยู่องค์กรที่มีวัฒนธรรมที่ดี (เพราะใคร ๆ ก็อยากอยู่)” 

jogging 4

คำแนะนำดี ๆ จากคุณเกิ้ล คือ อยากให้สังเกตุความสมดุลในเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัวให้ดี หากรู้ตัวว่ามันเสียสมดุลแล้วต้องรีบจัดการ เพราะเวลา 24  ชั่วโมงที่เรามี มันหาเติมได้ไม่ง่ายและไม่มีสูตรลัด 

“ไม่ไหวก็พักบ้าง หาของอร่อย ๆ กิน ลองไปชมสถานที่ใหม่ ๆ เปลี่ยนบรรยากาศ หรือกระจายงานส่งต่อให้คนอื่น, ตอบปฏิเสธ, บอกสถานการณ์ที่ประสบให้คนที่เกี่ยวข้องรับรู้ เพราะเมื่อใดที่ไม่ว่าจะกายรึใจมันพร่องลงไป… มันก็ไม่คุ้มจริง ๆ แหละนะ” 

สุดท้ายนี้ แอดก็ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้พบวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองในการทำให้ชีวิตทั้งส่วนตัวและการงานสมดุล สามารถรับมือได้กับทุกปัญหาที่เข้ามาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

หากเพื่อน ๆ ชอบใจหรือคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ สามารถแชร์ต่อแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นได้นะคะ

work life balance fire rest data

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save