ความท้าทายในการทำงานสาย Data ไม่ใช่แค่เพียงตัวงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำงานแบบองค์รวมของทีมอีกด้วย ซึ่งมักจะมาพร้อมกับรูปแบบของบริษัท ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate, Enterprise) และบริษัทขนาดเล็ก (Startup / SME)
บริษัทขนาดไหนเหมาะกับเรามากกว่า ในบทความนี้อ่านแล้วได้คำตอบแน่นอน
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่กำลังมองหางานสาย Data ที่เหมาะกับตัวเองอยู่ ก็ต้องไม่พลาดที่จะมองไปถึงองค์กรด้วยว่าเหมาะกับสไตล์การทำงานของคุณหรือไม่
เนื้อหาในบทความนี้ มาจาก Live หัวข้อ “Data in Corporate vs Startup” ซึ่งอยู่ในคอร์ส Road to Data Engineer 2.0 เล่าโดยแอดบอยด์ Data Scientist มากประสบการณ์ ที่ทำงานมาแล้วในองค์กรทุกรูปแบบ ทั้งไทยและต่างประเทศ ถ้าสนใจดูวีดิโอแบบเต็ม ๆ Inbox เพจ มาลงทะเบียนเรียนคอร์ส Road to Data Engineer 2.0 ได้เลย
งาน Data ในบริษัทขนาดใหญ่ แบบ Corporate ทำงานแบบไหน?
บริษัทแบบ Corporate หากให้พูดง่าย ๆ แบบไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ก็หมายถึง บริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีการวางโครงสร้างองค์กรที่เป็นระเบียบแบบแผนและมีแผนกชัดเจน
ในการทำงานกับองค์กรประเภทนี้นั้น ทุก ๆ การตัดสินใจจะต้องเป็นไปตามระเบียบขององค์กร อย่างเช่น ทีมคุยกัน แล้วต้องส่งเรื่องต่อให้หัวหน้าทีม และอาจจะต้องมีการพูดคุยกันในบอร์ดบริหารอีกครั้งเพื่อตัดสินใจร่วมกัน เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น องค์กรแต่ละที่ก็จะมีการบริหารงานและแบบแผนที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นตอนสัมภาษณ์องค์กรแบบนี้ควรสอบถามให้ดีว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบไหน
งาน Data ใน บริษัทขนาดเล็ก – กลาง แบบ Startup ทำงานแบบไหน?
เชื่อว่าหลายปีให้หลังมานี้ หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นชินกับคำว่าบริษัท Startup มาแล้วอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ทำงานสาย Tech ต่าง ๆ
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักว่า Startup คืออะไร Startup (สตาร์ทอัป) เป็นบริษัทที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ส่วนมากจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหรือ Pain Point ของผู้ใช้งาน
อย่างเช่น Airbnb ที่เป็นบริษัท Startup แก้ปัญหาในเรื่องของที่พักในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นต้น ส่วนมากแล้ว Startup จะมีโครงสร้างบริษัทที่ค่อนข้างกระชับ มีทีมที่เล็ก ทำงานรวดเร็ว และปรับตัวตามผลที่ได้อยู่ตลอดเวลา
ความแตกต่างระหว่างงานสาย Data ในบริษัท Corporate และ Startup
หากดูจากข้อมูลคร่าว ๆ ด้านบนแล้ว ก็น่าจะทำให้พอเดาได้ว่า การทำงานในบริษัทใหญ่ หรือ Corporate นั้นน่าจะเหมาะกับคนที่ชอบความมีแบบแผนมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงานในบริษัททั้งสองแบบก็มีความแตกต่างที่เหมาะสมกับคนแต่ละแบบ
ความยืดหยุ่น
บริษัทแบบ Startup มีความยืดหยุ่นมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่อย่างแน่นอน หลาย ๆ ครั้งการทำงานเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่ ๆ หรือการปรับเปลี่ยนบางอย่าง สามารถทำได้ทันทีที่ได้ข้อมูลมา
✅ สรุป: Startup เหมาะกับคนที่ชอบความยืดหยุ่นในการทำงาน
ความมั่นคงในการทำงาน
ในข้อนี้จะต้องบอกว่า สำหรับใครที่มีอาชีพหรือตำแหน่งในฝัน และต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน ก็อาจจะเหมาะกับการทำงานในบริษัทใหญ่มากกว่า
✅ สรุป: Corporate เหมาะกับคนที่กำลังมองหาความมั่นคง
การเรียนรู้และการพัฒนาตัวเอง
สำหรับใครที่อยากพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด อาจจะเหมาะกับการทำงานในบริษัท Startup มากกว่าในบริษัทขนาดใหญ่ เพราะคุณจะได้ลองทำทุกอย่างที่ทีมต้องการ ต้องช่วยกันระดมไอเดียและหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในทีมของคุณเอง
✅ สรุป: Startup เหมาะกับคนที่อยากเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
เมื่อได้รู้จักกับบริษัททั้งสองประเภทไปแล้ว เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกกันว่าสำหรับสายงาน Data ในบริษัทใหญ่และในบริษัท Startup จากประสบการณ์ตรง ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของขั้นตอนการทำงาน หน้าที่รับผิดชอบและทีม จากประสบการณ์ของแอดบอยด์ที่มาเล่าให้เราฟัง
การทำงานสาย Data ในองค์กรขนาดใหญ่ หรือ Corporate
ธรรมชาติของคนในบริษัท Corporate
สำหรับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ จะมีการทำงานที่ค่อนข้างเป็นแบบแผน ตั้งแต่ในส่วนของการสัมภาษณ์งาน สมัครงาน การคุยงานภายในบริษัท ตลอดจนไปถึงการคุยงานกับลูกค้า ที่จะต้องดูมีความเป็นมืออาชีพ มีการแต่งกายที่เรียบร้อย ดูมีความน่าเชื่อถือ และจะมีความเป็นแบบแผนในการพูดคุยถึงเรื่องต่าง ๆ มากกว่า มีการเข้างานเป็นเวลา ทำงานตามเนื้อหาและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
✅ สรุป: Corporate เหมาะกับคนที่ชอบความชัดเจนในหน้าที่
Data Team ในบริษัทขนาดใหญ่
สำหรับ Data Team ในบริษัทแบบ Corporate นั้นจะประกอบไปด้วยตำแหน่งคร่าว ๆ ดังนี้
- Data Engineer (เป็น Analytics Engineer)
- Data Analyst (เป็น AI Engineer)
- Data Scientist (เป็น AI Engineer)
- ML Engineer (เป็น AI Engineer)
- ML Ops (เป็น AI Engineer)
- Data Governance
- Data Steward
- Project Manager
✅ สรุป: Corporate เหมาะกับคนที่มีสายงานที่อยากทำของตัวเองชัดเจน
ขั้นตอนการทำงานของ Data Team ในบริษัทขนาดใหญ่
นี่เป็นตัวอย่างขององค์กรหนึ่งที่แอดบอยด์เคยทำ ซึ่งตำแหน่งงานและขั้นตอนจะขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรด้วย
- ขั้นตอนที่ 1 : Data Engineer จะเป็นผู้ประมวลผลและรวบรวมข้อมูลจากแต่ละแผนกในบริษัท หรือข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เช่นแอปพลิเคชัน หรือจากพาร์ทเนอร์ ให้อยู่ในที่เดียวกัน ใช้งานง่าย เพื่อส่งมอบให้ทีมได้ใช้งานข้อมูลต่อไป
- ขั้นตอนที่ 2 : Data Analyst จะทำหน้าที่ในการทำ queries ต่าง ๆ เพื่อตอบคำถามที่แต่ละแผนกต้องการ Data Scientist สามารถทำโมเดลต่าง ๆ ขึ้นมาได้เพื่อช่วยวางแผนการทำงาน
- ขั้นตอนที่ 3 : ML Engineer ทำการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ในการเขียนโค้ด (Coding) เพื่อทำโปรดักชันออกมาให้สำเร็จ โดยจะมี ML Ops เป็นคนคอยดูแลเรื่องระบบและการพัฒนาต่อไป
✅ สรุป: Corporate เหมาะกับคนชอบงานแบบมีขอบเขตชัดเจน
การทำงานสาย Data ในบริษัท Startup
ธรรมชาติของคนในบริษัท Startup
ส่วนมากแล้วผู้คนใน Startup นั้นแทบจะแยกไม่ออกระหว่างคนที่เป็นระดับหัวหน้าและคนที่เป็นพนักงานในทีม เพราะผู้คนที่ทำงานใน Startup นั้นจะมีความผ่อนคลายมากกว่า ตั้งแต่เรื่องของการแต่งตัว เวลาในการเข้างานออกงาน ตลอดจนไปถึงการพูดคุยในทีมและระหว่างทีม
นั่นก็เพราะว่าองค์กรแบบ Startup นั้นเน้นเรื่องการทำงานและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเป็นหลัก จึงไม่ค่อยมีพิธีรีตองหรือแบบแผนอะไรมาก ทุกคนพูดคุยกันได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าชอบวัฒนธรรมองค์กรที่ชิล ๆ มากกว่า สาย Startup ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก
✅ สรุป: Startup เหมาะกับคนที่ชอบบรรยากาศการทำงานแบบสบาย ๆ
Data Team ในบริษัท Startup
สำหรับบริษัท Startup ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทีม Data ก็มักจะประกอบไปด้วยตำแหน่งเหล่านี้
- Data Engineer
- Data Analyst
- Data Scientist
จะเห็นว่าตำแหน่งน้อยกว่าทาง Corporate มาก หนึ่งคนอาจใส่หมวกหลายใบ
✅ สรุป: Startup เหมาะกับคนที่ชอบทำงานหลากหลายด้าน
การเข้าถึงข้อมูล
ทุกตำแหน่งในทีมสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยอาจจะไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ดูแลข้อมูล เพราะจะเป็นการเน้นให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ เพื่อดึงข้อมูลออกมาทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ
✅ สรุป: Startup เหมาะกับคนที่ไม่ชอบพิธีรีตองมาก เน้นการสื่อสารเป็นระบบมากกว่า
การสมัครงานสาย Data ใน Corporate และใน Startup
การสมัครงานใน Corporate
- เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์มาในระดับหนึ่งแล้ว
- ขั้นตอนการสมัครงานจะต้องผ่านทีม HR ทำให้ถ้าเราทำงานไม่ตรงสายมา หรือเรียนจบไม่ตรงสาย อาจจะ Resume ไม่ผ่านได้ต้องมีการส่งเอกสารเกี่ยวกับประสบการณ์
- อาจจะมีการทำแบบทดสอบก่อนสัมภาษณ์
- หลังทำการทดสอบ หากผ่าน จึงจะได้สัมภาษณ์กับทีม ซึ่งอาจจะได้สัมภาษณ์กับทั้งทีมเดียวกัน หัวหน้าทีม หรือทีมอื่น ๆ ด้วย
การสมัครงานใน Startup
- เหมาะกับคนที่เพิ่งเปลี่ยนสายงาน ไม่ต้องมีประสบการณ์มากก็ได้ แต่ต้องพร้อมที่จะพัฒนาและเรียนรู้ไปพร้อมกับทีมและองค์กร
- มักจะสัมภาษณ์กับ CEO หรือระดับผู้บริหารโดยตรง
- ถ้าหา Connection กับคนในบริษัทนั้น เช่น เจอตัวจริงตามงานต่าง ๆ หรือ LinkedIn ก็เป็นการเพิ่มโอกาสได้สูงขึ้นมาก
สรุปแล้ว คุณเหมาะกับการทำงานในบริษัทแบบไหน?
คุณเหมาะกับการทำงานในบริษัท Corporate ถ้า…
- มีประสบการณ์มาแล้วในระดับหนึ่ง
- ต้องการความมั่นคงในที่ทำงาน
- ต้องการเรียนรู้ระบบการทำงานอย่างครบวงจร
- ต้องการเรียนรู้ทักษะการทำงานกับคนหลากหลายทีม
- ชอบการทำงานที่มีแบบแผน ขอบเขตชัดเจน
คุณเหมาะกับการทำงานในบริษัท Startup ถ้า…
- เพิ่งเปลี่ยนสายงาน อยากได้ประสบการณ์จากการลงมือทำจริง
- เป็นคนชอบเรียนรู้ ปรับตัวได้เร็ว
- ชอบความท้าทาย ทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดี
- ต้องการเรียนรู้ในสายงานอย่างกว้าง ๆ ได้ลองทำหลาย ๆ อย่าง
- มีความยืดหยุ่นในการทำงาน
- ได้ประสบการณ์ตรงในการทำงานและการแก้ปัญหา
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณได้ไอเดีย มองเห็นภาพว่าคุณเหมาะกับการทำงานในองค์กรแบบใด
และหากต้องการฟังบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับผู้คนที่ทำงานในสาย Data อย่างครบวงจร คุณสามารถดูวิดีโอ Live 2022 for Road to Data Engineer 2.0 ทั้งหมด 12 วิดีโอเต็ม ๆ ได้แล้ววันนี้ เพียงแค่สมัครเรียนคอร์ส Road to Data Engineer 2.0 กับ DataTH
หรือกดติดตามเราไว้ทาง Facebook หรือ Youtube เพื่อรับอัปเดตเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความสรุปต่อ ๆ ไป
ถ้าชอบฝั่ง Startup หรือ Corporate มากกว่า หรืออยากให้เราเจาะลึกในหัวข้อไหนเป็นพิเศษ สามารถคอมเม้นท์ไว้ได้เลยนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ